ทุกคนได้ยินข่าวเดียวกันไม่มีใครเข้าใจผิด คาเฟ่และที่พักที่เชียงใหม่ ไร่ Brandnew Field Good ต้องขอพักไปก่อน ตอนนี้ย้ายสาขามากรุงเทพฯ พลิกผืนนา ปลูกข้าวเต็มพื้นที่ ด้วยความตั้งใจอยากให้คนไทยได้กินข้าวที่ดีจริงๆ “ข้าวที่เราตั้งใจปลูกให้คนไทยได้กิน”
ผืนนา 5 ไร่ที่ นิว-นภัสสร ภูธรใจ และเป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์ ซื้อเอาไว้ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ภาพที่เราคุ้นตากับสะพานทอดยาวผ่านนาไปสู่คาเฟ่ Brandnew Field Good ความธรรมชาติสุดโรแมนติกนี้ถูกคลื่น Covid-19 ซัดนักท่องเที่ยวหายไปพักใหญ่ แต่ฤดูกาลของนายังคงดำเนินต่อไป
“นาที่ร้านเราทำนาปี ช่วงปีที่แล้วเจอโควิดร้านก็เงียบ เราเลยใช้พื้นที่ที่เคยเป็นลานกิจกรรมทำนาทั้งหมด วงจรของการปลูกข้าวแต่ละปี พอนาข้าวเสร็จ ชาวบ้านเขาจะเว้นไปปลูกถั่ว แต่เราทำนาข้าวอีกรอบ ตั้งใจว่าจะปลูกข้าวสาลีรอ พอต้นปีถ้ามีนักท่องเที่ยวมาก็จะได้เห็นทุ่งข้าวสีเหลืองทอง แต่โควิดก็ระบาดอีกรอบตั้งแต่ปีใหม่ ยังไม่มีใครได้ทันเห็น”
พี่นิวเล่าถึงสถานการณ์พลิกผันครั้งใหญ่อย่างไม่คาดฝัน ความสำเร็จนักร้องระดับดีว่าไม่ได้การันตีว่า เส้นทางเกษตรกรข้าวจะราบเรียบเสมอไป แต่ทั้งพี่นิวและพี่เป๊กไม่ได้ต้องการเป็นเพียงนักธุรกิจและเกษตรกรรุ่นใหม่ เมื่อได้เข้าสู่วงการข้าวของจริงแล้ว ทำแล้วต้องทำให้สุด
ทำไป ทำมา ทำนา ได้ยังไง?
เล่าฉบับย่อที่มาที่ไปของการได้นาผืนนี้มาอย่างที่ทั้งสองเคยให้สัมภาษณ์กับหลายสื่อมาแล้วว่า พี่นิวเติบโตมาจากครอบครัวที่ปู่ย่าตายายทำการเกษตร ผืนนาที่โอบล้อมธรรมชาติมันดึงดูดให้เธอกลับไป และใช้วิถีชีวิตในแบบที่เธอเคยสัมผัสในวัยเด็ก
“พอซื้อที่ตรงนั้น เราก็จัดงานแต่งที่นั่นเลย” แล้วก็จัดสรรพื้นที่ในการปลูกพืชผลและทำธุรกิจเอาไว้อย่างเกื้อกูลกัน จนถึงวันที่เหลือแต่ทำได้แต่นา Brandnew Field Good เลยต้องยกสาขามาตั้งหลักที่กรุงเทพฯ
“เราก็เอาผลผลิตตรงนั้นมาใช้เป็นวัตถุดิบของเมนูใหม่ๆ แทน จริงๆ แล้วก็จะขายในคาเฟ่ แต่พอไม่มีนักท่องเที่ยว เราก็เอาพละกำลังทั้งหมดที่เหลือ หอบวัตถุดิบมากรุงเทพฯ เพราะยังไม่อยากล้มเลิกความคิดในการทำการเกษตรของเรา”
ห้องทดลอง cook ข้าว
พี่นิวได้ทำการเปลี่ยนโฉมเมนูเก่าๆ ด้วยวัตถุดิบที่ทวิสต์ใหม่ “เราลองใช้ข้าวดอยมาทำแป้งขนมปัง จากปกติทำมาจากข้าวสาลี ไม่ว่าจะไทยหรือนอก แต่พอเอาข้าวดอยมาบดละเอียด แล้วใช้เป็นส่วนผสมทำแป้งขนมปัง กลิ่นก็จะหอมต่างออกไปและได้สีธรรมชาติจากข้าวเลย ส่วนไส้อั่วของเรามีข้าวสาลีผสมอยู่ด้วย” เธอเล่าว่าไอเดียแปลกใหม่อินสไปร์มาจากความรู้ที่ได้จากเชฟหลายๆ ท่านตอนที่มีโอกาสเข้าแข่งขันรายการทำอาหาร “อย่างเชฟเอียนก็ให้คำแนะนำ ให้ไอเดียเราเยอะเหมือนกัน”
เธอพูดถึงข้าวบ่อยครั้งก็เพราะทำนาข้าว เราอาจจะจินตนาการเห็นข้าวสารเป็นกิโล แต่มีเพียงคนกลุ่มไม่ใหญ่ที่อยากจะซื้อข้าวสารกระสอบไปหุง “เราอยากขยายกลุ่มลูกค้าและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว อยากทำให้คนอยากหุงข้าว ทำอาหาร หรือลองอาหารของเรา” ทั้งสองเลยขึ้นจากนา มาเข้าครัวหุงข้าวและทดลองอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเองซะเลย
ดำลึกลงไปในนาข้าว
พี่เป๊กเล่าเสริมว่า อีกหนึ่งความตั้งใจควบคู่ไปกับการเป็นเกษตรกร Brandnew Field Good ก็ทำ eco tourism เพื่อจะพัฒนาไปพร้อมๆ กันกับชุมชนตรงนั้น เหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้อยากปลูกข้าว ก็เพราะเป็นวิถีของคนที่นั่นอยู่แล้ว “ตอนนั้นเราจัดกิจกรรม ‘เกี่ยวกันไหม?’ ชวนคนมาเกี่ยวข้าวกับเรา ฟังดนตรีแจ๊สตอนเย็น ก็เป็นคนในชุมชน คนที่เป็นเจ้าของร้านอาหารอยู่รอบ หรือทำอย่างอื่นในจังหวัด แต่วิถีชีวิตจริงๆ ของเขาก็เป็นชาวนาด้วย”
“นอกจากจะสร้าง connection สร้าง inspiration ก็ต้องมี innovation ด้วย เลยมาคิดต่อว่าทำยังไงถึงจะแตกต่าง เราก็ได้กรมการข้าวของเสมิงและศูนย์วิจัยการข้าวของมหาวิทยาลับเชียงใหม่(มช) มาช่วยเรา ได้รู้จักข้าวหลายสายพันธุ์ 17 สายพันธุ์ข้าวดอย 14 สายพันธุ์ข้าวสาลี ก็มาเลือกกันว่าอันไหนที่ดี ที่เราจะปลูกกัน”
ทั้งสองเน้นลงมือทำให้เห็นว่าข้าวดอยที่ถูกใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป สร้างช่องทางกระจายสินค้าของชุมชนในเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรมากขึ้น
“ส่วนเดลิเวอรี่ที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ เราอยากให้คนเมืองได้กินข้าวพันธุ์ไทย ที่แม้จะแพงกว่าข้าวหอมมะลิเป็นเท่าตัว แต่สำหรับเรามันเหมือนงานอาร์ต อาร์ตตั้งแต่ปลูกเลย ถ้าฝนไม่ตก หน้าแล้งก็ปลูกไม่ได้ อีกความอาร์ตคือชื่อ” จากคำว่า บือ คือ ข้าว บือโบโละ บือปีอีกอ บือปีอีวา บือซอมี คือชื่อที่หลากหลายนี่คือเสน่ห์ของข้าวที่มาของชื่ออาจจะมาจากการค้นพบ คนค้นพบ หรือลักษณะของเมล็ด “พี่ว่ามันมีอะไรน่าศึกษามากมาย มันสนุก มีสตอรี่ที่เล่าต่อได้”
หอมมะลิก็ได้ ทำไมต้องข้าวดอย?
พี่นิวเองก็รู้สึกว่ายากขึ้นตรงนี้ จากขายวิวอยู่ดีๆ เธอต้องมาขายข้าวแบบเดลิเวอรี่ด้วย! “มันไม่มีหน้าร้าน คนที่จะเลือกสั่งอาหารกับเราทั้งที่เขายังไม่รู้ว่าเขาจะได้อะไร เห็นแต่ในภาพ ไม่ได้ไปเห็นกับตา เราเลยต้องให้ความเชื่อมั่น ให้ความเข้าใจ ให้เหตุผลที่ดีว่าทำไมต้องซื้อข้าวจากเรา” ภาพทุ่งนาและสะพานยาวสุดสายตานั้นอาจเคยเป็นจุดดึงดูดลูกค้า แต่พอย้ายมากรุงเทพฯ วัตถุดิบต้องโดดเด่น
“ต้องพรีเซนต์วัตถุดิบให้มากขึ้น เราใช้ของดีอยู่แล้ว แต่ต้องพูดถึงมัน สร้างความเข้าใจ โดยที่ตัวเราก็ต้องรู้จักและเชื่อมั่นในมันจริงๆ”
ความยากที่เราเข้าใจคือ ความเข้าใจนี่แหละ ในเมื่อคนไทยก็กินข้าวอะไรก็ได้ ขอให้เป็นข้าวเราก็แฮปปี้ ข้าวดอยที่ราคาสูงกว่าดีกว่ายังไง? “พอเราเป็นคนปลูก เราก็อยากให้คนอื่นได้กิน เพราะมันดีจริงๆ” พี่เป๊กยืนยันเลยว่าได้ร่วมพัฒนา วิจัยทอดลอง และรู้ว่าข้าวดีๆ มันพัฒนาไปเรื่อยๆ
“อย่าง กข180 ทำไมเลขมันเยอะขึ้น เพราะเขาพัฒนามาเรื่อยๆ ให้ทนดิน ทนน้ำ ทนลม ไปจนถึง กข ที่มีเลขสูงๆ พอทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขาพัฒนาพันธุ์ข้าวดีๆ มา เราได้รู้ก็อยากจะบอกต่อ เพื่อช่วยทั้งคนปลูกให้ขายได้ และคนกินได้กินดี”
“นี่อาจจะเป็นวิกฤตที่เป็นโอกาสก็ได้ นิวเชื่อว่าทุกกิจการจะเกิดจุดเปลี่ยน” เธออาศัยช่วงเวลานี้ตกผลึกความคิด “มองตัวเองให้ชัดขึ้น สิ่งที่ทำมันขาดอะไรไป ควรเปลี่ยนหรือเติมอะไรเข้าไป ทำให้มันดีกว่าเดิม”
แล้วทำไมต้องกิน Brandnew Field Good?
“มันคือแรร์ไอเท็ม หายาก และมันอร่อย! กินแล้ว feel good เหมือนตอนที่เรากินครั้งแรก เรามีความสุขจากข้าวที่เราปลูกเอง ข้าวที่ไม่มีสารเคมี ไม่ใช่ปุ๋ย เราอยากให้ทุกคนได้ความรู้สึกนี้เหมือนกับเรา เราทำข้าวดอยด้ง มันคือข้าวหน้าความครีเอทีฟ และโภชนาการยังคงอยู่ครบ ภูมิใจในข้าวสายพันธุ์ไทยที่ทำให้ด้งจานนี้รสชาติดีไม่แพ้ด้งญี่ปุ่นเลย”
การจะส่งความรู้สึกที่ดี ผู้ส่งก็ต้องมีพลังที่ดีอย่างที่ทั้งสองกำลังจะส่งเป็นเดลิเวอรี่ข้าวในตอนนี้ “เราต้องเจอกับพาร์ตเนอร์หรือสิ่งแวดล้อมที่ให้กำลังใจเราด้วย ตอนแรกเราก็ตัดสินใจยากเหมือนกัน แต่พี่เป๊กเขาก็อยากให้เราทำ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ทั้งตัวเราและคนที่เดินทางมาที่ไร่นาของเรา มันเลยเกิด passion เกิดความสุขและท้าทาย”
มองในแง่ผลตอบแทนที่ได้รับ บางคนอาจมองเห็นเงิน หรือบางคนอาจแค่เดินไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ แต่ในสายตาของคนอื่นที่มองเข้ามาคงไม่รู้หรอกว่า เป๊กและนิวมีเป้าหมายอะไร หนึ่งในนั้นอาจเป็นการดันข้าวไทย หรือได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ
แต่สิ่งที่หนึ่งที่ชัดเลยคือทั้งสองยังคงลงมือทำต่อไป เพื่อเป็นแรงใจซัพพอร์ตกันและกันเพื่อให้ทั้งสิ่งที่ทำและสิ่งที่รักยังคงไปต่อพร้อมกันได้
ดูเมนูเพิ่มเติมและสั่งข้าวช่องทาง instagram BRANDNEWFIELDGOOD
อ่านเรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand