งานประจำ มันทำให้เราเสียความอิสระใช่ไหม ไหนจะเวลาทำงานที่มักจะล่วงเลยเวลาเลิกงาน เพื่อนร่วมงานที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เจ้านายที่สั่งงานบ่ายนี้จะเอาเย็นนี้ หรือที่โหดกว่านั้นคือสั่งงานก่อนนอน ขอให้ส่งก่อนประชุมเช้า! ความฝันที่เคยอยากจะสานต่อก็ยังไม่เกิดขึ้นซะที ไปเป็น ฟรีแลนซ์ ดีกว่า…
อยากบอกคนมีงานประจำทำทุกคนว่า เดี๋ยว! ไม่ขัดหรอกนะว่าความอิสระของงาน ฟรีแลนซ์ มันช่างยั่วยวนใจ แต่คำว่า ‘อิสระ’ นี้มันมีความหมายครอบคลุมไปทุกภาคส่วน อิสระไปซะทั้งหมดเลย
ทำงานเมื่อไหร่ก็ได้ ทำงานที่ไหนก็ได้ จะทำงานอะไรก็ยังได้อีก ไม่มีเพื่อนร่วมงาน..ก็อาจจะใช่ ไม่มีเจ้านาย..ไม่แน่ใจ ไม่มีลูกค้า..ไม่จริง เราลองมาไล่ไปทีละประเด็น
อิสระคือมายา?
ความยืดหยุ่นในการทำงาน ทำงานฟรีแลนซ์เท่ากับว่า ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานแทบจะผสมผสานกันได้ดีกว่าตอนทำงานประจำอีก เพราะเมื่อเรากลายเป็นเจ้านายตัวเองแล้ว(นี่ไงเจ้านายของคุณ) เราต้องรับผิดชอบตัวเอง จะทำงานเมื่อไหร่ก็ได้จริงไหม ในเมื่อเราถือคติว่าก็ทำให้ตัวเอง ฟรีแลนซ์บางคนเลยเผลอทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปเพื่อทำงาน เพราะทำงานก็ได้เงิน ทำเสร็จเร็ว ยิ่งได้งานใหม่ ทำไปเรื่อยๆ ลืมไปเลยว่าอะไรคืออิสระ
“ก็กำหนดเวลาสิ เหมือนเวลาเข้าออฟฟิศ เสาร์อาทิตย์ก็หยุด” อนุโมทนาสาธุกับคนที่ทำได้ ก็ขอให้รักษาบาลานซ์เอาไว้ดุจเกลือรักษาความเค็ม เพราะฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ แรกๆ ก็แบ่งเวลาทำงาน แต่ความฟรีของงานที่บางทีก็ไม่มีเข้ามายาวไปหนึ่งเดือนเต็ม ทำให้เมื่อไหร่ที่งานเข้าเราอ้าแขนรับทำทั้งหมด ทำเหมือนจะไม่มีวันพรุ่งนี้ ทำเหมือนว่ามีชีวิตอยู่เพื่อทำแต่งาน นั่นแหละสิ่งที่ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่เป็น
การได้ทดลอง Work From Home กันมาร่วมปี นี่คงเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเลยว่าการทำงานที่บ้านมันทำให้ชีวิตเราพินาศขนาดไหน บ้านที่เคยเป็นวิมานกลายเป็นที่ทำงาน บรรยากาศแห่งความผ่อนคลายถูกทดแทนด้วยภาพของงาน เจ้านายจะสั่งงานตอนไหนก็ได้ เราเผลอพักกลางวันแปปเดียวโดนทวงงานอีกแล้ว เมื่อไหร่ที่สถานการณ์กลับไปสู่สภาวะปกติ คนมีงานประจำทำจะได้กลับไปที่ออฟฟิศ ส่วนฟรีแลนซ์อาจจะได้แค่ออกไปเสียเงินเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศที่ร้านกาแฟ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาตายรัง
Everyday is a Holiday
“อยากให้ทุกวันเป็นเหมือนวันพักผ่อน ทำงานครึ่งเดือน เที่ยวอีกครั้งเดือน” ช่างเป็นอีกจินตนาการที่เย้ายวนใจ และใช่ว่าจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ เคยสัมภาษณ์บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง ที่ยอมรับว่าพวกเขาแยกไม่ออกแล้วว่า นี่มาทำงาน หรือมาเที่ยว เพราะเมื่อ ‘เที่ยว’ มันคือการ ‘ทำงาน’ พวกเขาต้องรับความกดดันบางอย่างที่ทำให้กิจกรรมที่เคยรู้สึกว่าทำเพื่อผ่อนคลาย กลายเป็นต้องได้ผลงานกลับไป “และงานนั้นอาจไม่ใช่งานที่ได้เงิน แต่มันจะได้ยอดไลค์หรือยอดติดตามที่เราเอาไปทำเงินต่อได้”
ก็ลองคิดซะว่าจากที่เคยแค่ไปนอนโง่ๆ ริมทะเล แต่คุณต้องหยิบกล้องหนึ่งใน(อย่างน้อย 3 ตัว)ขึ้นมาหามุม เซ็ตแสง ถ่าย ไม่ได้ ถ่ายแก้ และเอ้า! มีงานอื่นต้องแก้อีกเดี๋ยวนั้น หยิบโน๊ตบุ๊คมาซิ เปิดแก้ซะหน่อย สักพักเสร็จ เช็ครูปที่ถ่ายอีกที อืมมมไม่ค่อยดี แต่แสงหมดแล้ววันนี้ เดี๋ยวถ่ายใหม่พรุ่งนี้ก็แล้วกัน
มันอาจจะไม่ขนาดนั้นถ้าคุณไม่ได้ทำงานสไตล์นี้ แต่ที่จะบอกก็คือ ทำงานที่ไหนก็ได้ ที่เราเข้าใจว่าเราเลือกได้ บางครั้งมันจะกลายเป็นว่า เราเลือกไม่ได้ ต้องหอบงานไปทำทุกที่ แต่ถ้าชีวิตตอนนี้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้วละก็ข้อนี้ถือว่าเจ๊ากัน
ทุกตำแหน่งงานคืองานของเรา
ตอนทำงานบริษัท เราอาจจะรับผิดชอบแค่งานเดียวเช่น เป็นนักเขียน พอมาทำงานฟรีแลนซ์ก็ทำอย่างเดิม แต่เพิ่มเติมคือต้องทำบัญชี ต้องติดต่อประสานงาน เลือกลูกค้า ซึ่งมองในแง่ดีคือมันไม่ได้หนักหนาอะไรเลย แค่รับผิดชอบชีวิตตัวเอง แต่ที่จะเข้ามาหนักๆ คือความเหงา แทบจะหันไปปรึกษาใครไม่ได้ เพราะเพื่อนทุกคนก็มีงานต้องทำ คนในครอบครัวก็ไม่เข้าใจ อยากจะเม้า อยากจะชวนใครไปกินข้าว ก็มีแต่เรา
แก้ง่ายๆ คือฝึกคุยกับตัวเองเยอะๆ คิดอะไรให้ละเอียดรอบด้าน มองภาพใหญ่แล้วซูมเข้าไปสังเกตภาพเล็ก และอย่าทำตัวเป็นเจ้านายตัวเองที่เอาแต่ตินั่นตินี่ จนทำให้ตัวเองหมดความมั่นใจ ยอมรับว่าตัวเองพลาดได้ หมดไฟได้ ฟรีแลนซ์หรืองานประจำ ท่องไว้เลยว่า ไม่ว่าใครก็ต้องเจอภาวะหมดไฟด้วยกันทั้งนั้นแหละ
เป็นอิสระทางการเงิน
บอกไม่ได้ว่า คนที่เป็นฟรีแลนซ์แต่ละคน ได้รายได้เฉลี่ยเท่าไหร่ เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทำงานเก่งไหม รับงานเยอะไหมเพียงอย่างเดียว แต่โอกาสที่จะได้งานนั้นคือสัดส่วนที่สำคัญมากๆ เพราะบางโลกนี้มีฟรีแลนซ์เยอะยิ่งกว่าปลาในน้ำ ถ้าไม่ได้เก่งในสิ่งที่ทำระดับแถวหน้าก็เตรียมไปฟาดฟันกันได้เลย เพราะลูกค้าบางคนก็พร้อมจะด้อยค่างานของเรา “ทำแค่นี้เอง คิดราคานี้เลยหรอ” ได้ยินคำนี้อย่างแรกเลยกลับมาวิเคราะห์งานตัวเอง งานเราแพงเกินคุณภาพไปไหม ถ้าไม่อย่าเพิ่งคิดว่าลูกค้าเป็นแบบนี้ไปซะทั้งหมด หาลูกค้าของเราให้เจอ
เทคนิคเป็นฟรีแลนซ์ให้รอด จากคนที่พยายามเอาตัวรอดอยู่เหมือนกัน
หาลูกค้าของเราให้เจอ – เหมือนหาเนื้อคู่(ที่มีได้หลายคน) หาคนที่เข้าใจงานของเรา การทำงานของเรา และเอาตัวเองไปไว้ในตลาดที่ถูกต้อง ถ้าเราทำงานเพื่อให้ได้ปริมาณเยอะๆ คุณภาพไม่เน้น ก็ต้องไปหากลุ่มเป้าหมายที่ใช่ แต่ถ้าเราทำงานให้คุ้มคุณภาพเงินที่ได้ต้องพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด มองว่าทุกงานคือโอกาสที่เราได้ทำแบบฝึกหัด อย่ามองว่าตัวเองกำลังย่ำอยู่กับที่ วันหนึ่งเราจะรู้ว่าเราถนัดอะไรและถ้าฝึกมากพอก็ไม่พ้น one of the best ในสิ่งนั้นหรอก
จัดการทุกอย่างให้ได้ – ทั้งเรื่องรายรับที่ไม่ได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และรายจ่ายที่เรียกเก็บอย่างสม่ำเสมอ จดบันทึก ทำภาษี มีเงินสำรอง และอย่ารับงานจากที่เดียว จัดการเวลาให้ได้ ถ้าอยากจะบาลานซ์ชีวิตและงานดี ก็ต้องฝึกทำงานเป็นเวลา แต่ว่ายืดหยุ่นกับการทำงานล่วงเวลาหน่อย ให้อภัยตัวเองถ้ากลายเป็นคนบ้างาน กำหน
รู้จักปฏิเสธให้เป็น – รู้ว่าอะไรที่ทำแล้วคุ้มค่า เราไม่ต้องเป็นคนหยิ่งหรือมั่นหน้าในการปฏิเสธบางงานที่เรารู้สึกว่าทำได้ไม่ดี ทำแล้วเสียเวลา เพราะมันอาจจะเป็นการเสียโอกาสในการทำสิ่งที่ดีกว่า อย่างที่บอกว่าไม่มีเรา เขาก็หาคนอื่นมาทำได้ แต่ก็ต้องฝึกทักษะในการเลือกงานให้ดี บางทีงานที่เราปฏิเสธไปอาจเป็นโอกาสที่ดี หรือเป็นโอกาสที่เราเสียดายทีหลังก็ได้นะ
สิ่งที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หันแค่ด้านมืดของการเป็นฟรีแลนซ์เพื่อทำให้รู้สึกว่า ต้องเก่ง ต้องแกร่ง ต้องเข้มแข็งเท่านั้นถึงจะกล้าทิ้งงานประจำมาสู่ความไม่แน่นอนนี้ เพราะทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป และไม่ว่าจะทำงานประจำหรือฟรีแลนซ์ก็ตาม เราต่างก็ทำเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น
หากอยากบอกลางานประจำเพราะทนความบ้าบอของผู้คนและเนื้องานไม่ไหวแล้ว ค่อยๆ ลองไล่ระดับ ทำงานอดิเรกดู ทำสิ่งที่เคยฝันเอาไว้ว่าอยากทำ ทำสิ่งที่คิดว่างานนี้นี่แหละอาจให้ความสุข ทำโดยไม่คิดถึงรายได้ เพราะรายได้ไปเก็บเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ซะ เพื่อความปลอดภัยและไม่สติหลุดหากชีวิตฟรีแลนซ์ไม่เป็นอย่างที่หวัง เด็ดขาดกับงานที่ทำอยู่หน่อย แบ่งเวลามาอย่างไม่ต้องเกรงใจใคร
ถ้าพบว่าฟรีแลนซ์มันใช่กว่าก็ขอให้แน่ใจว่าฉันรับผิดชอบไหว แต่ถ้ายังลังเล ก็ท่องเอาไว้ ‘กอดงานประจำไว้ ไม่ต้องแน่นมาก’ ลองหาเวลาทำสิ่งที่อยากทำ ไม่เวิร์คก็เปลี่ยนใหม่ หาไปเรื่อยๆ บางทีอาจจะดีกว่าลาออกมาจากความมั่นคง แต่ได้ความสบายใจในงานอดิเรกมาแทนก็ได้ ใครจะรู้
อ่านเรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand