Flying Peanuts เนยถั่วนักบินที่ เจนและแฟนนักบินของเธอเริ่มด้วยกันจากศูนย์! ก็แค่อยากกินเนยถั่วรสชาติที่โดนใจ ปั่นกินกับขนมปังตอนเช้า แต่ดันไปถูกใจจนขายดิบดี
“ทำงานก็ทำหนัก แต่เวลาพักขอพักเต็มที่หน่อยเหอะ” คือเจนเลย เธอเป็นคนที่แบ่งเวลาใช้เอเนอจี้ตามกิจกรรมที่ทำ เต็มที่กับงานที่ได้รับ แต่พองานประจำโหลดมากๆ แม้จะระหว่างช่วงโควิด-19 ก็ลังเลเหมือนกันว่าจะลาออกมาทำอะไร?
ตัดภาพมาที่แฟนนักบินของเจน เป็นคนชอบกินเนยถั่วมาก “ปกติเขาจะชอบไปชิมเนยถั่วสูตรของประเทศต่างๆ ที่บินไป แต่ช่วงสองปีมานี้ก็ไม่ค่อยมีโอกาสเท่าไหร่แล้วและยังไม่เคยเจอที่โดนใจจริงๆ ด้วยความชอบมากๆ ก็เลยปั่นกินเองที่บ้านเลย” เขาบอกว่าข้อดีของมันเลยนะ เลือกวัตถุดิบได้เอง “เรารู้ว่าใส่อะไรลงไปเท่าไหร่ กินอะไรเข้าไป และรสชาติก็ต้องทำให้ชอบที่สุด” ทำจนแจกเพื่อนได้ แจกจนเพื่อนบอกว่าขายเถอะ! นี่เลยเป็นที่มาของเนยถั่ว Flying Peanuts แบรนด์แรกที่ทั้งสองสร้างมันมาด้วยกันกับมือ
ช่วงที่ตลาดโรงเรียน/มหาลัยในกรุ๊ปเฟสบุ๊คบูมมากๆ เธอลองขายซะเลย “มันเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนที่เคยชิมแล้วก็มาสั่งและโฆษณาให้ ทุกคนอยากลองของใหม่ๆ อยากอุดหนุนคนไทยด้วยกัน เราก็ขายและพัฒนารสชาติใหม่เป็นช็อคโกแลตและชาเขียว” ตอนนั้นเจนมองเห็นความเป็นไปได้ เธอเลยตัดสินใจเดินหน้า ลาออกจากงานประจำที่แน่นอนว่ามั่นคง มาทำธุรกิจนี้กับแฟน แฟนเป็นคนพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนเจนจัดการเรื่องมาร์เก็ตติ้งเอง
เอาจริงๆ เจนเองก็ตกใจเหมือนกันที่ผลิตภัณฑ์เนยถั่วมันขายได้ขายดีอะไรขนาดนี้ จนได้ไปออกรายการทีวีชนะใจโปรดิวเซอร์ครัวคุณต๋อยด้วยเนยถั่วรสมัชฉะ “ตอนนั้นขายดีถึงขนาดที่แม้จะผลิตภัณฑ์ในสเกลโรงงานแล้วก็ยังไม่ทัน คนเริ่มรู้จักมากขึ้นแต่ก็ยังขายแต่ในออนไลน์อยู่ จนเมื่อปลายปีที่แล้วก็ลองเสนอสินค้าเข้าไปวางใน After You ทั้งสามรสที่มีเลย”
ออนไลน์ก็ยังขายอยู่ และแฟนก็เริ่มกลับไปทำงานนักบินปกติ เลยเรียกได้ว่านี่กลายเป็นงานประจำของเธอไปแล้วเรียบร้อย “ความหนักของการทำธุรกิจส่วนตัวคือเราต้องรับผิดชอบทุกงานให้ได้ในเบื้องต้น ต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในทุกส่วน ถึงแม้จะจ้างใครมาซัพพอร์ตในส่วนไหน แต่เจ้าของธุรกิจก็ต้องรู้ความเป็นไปของงาน” เจนบอกว่าเคยคิดว่าตัวเองเป็นคนทำงานหนักมากแล้วนะ พอออกมาทำเองนี่ยังหนักกว่าตอนทำงานประจำได้อีกหรอ
ในส่วนของเนยถั่วจากการกวนเองที่บ้านไปสู่สเกลโรงงาน อายุผลิตภัณฑ์หลังจากเปิดทานครั้งแรกแล้วก็ขยายออกไปนานขึ้นจาก 6 เป็น 8 เดือน แต่เธอไม่แนะนำให้เก็บนานกว่านั้น เพราะไม่ได้ใส่สารกันเสีย หลายคนมีภาพจำของเนยถั่วว่า หวาน มัน เค็ม พอหมุนกระปุกดูเจอไขมันทรานส์ น้ำตาล เกลือจัดเต็ม สายสุขภาพเซย์โน แต่พอคลีนมากๆ ก็ไม่รู้จะเป็นเนยถั่วไปทำไม เจนบอกว่าการหาจุดตรงกลางไม่ง่ายเลย แต่ Flying Peanuts ก็หาจุดยืนเจอจนได้ “เรากล้าพูดว่ามันทั้งเฮลธ์ตี้และยัมมี่ ความหวานที่มาจากน้ำตาลมะพร้าว วัตถุดิบส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะอิมพอร์ตเข้ามาจากต่างประเทศ ในสูตร Original เราใช้ Extra Virgin Olive Oil กินในปริมาณที่เหมาะสมก็ไม่สะสมในร่างกาย Cocoa จากแอฟริกา และ Matcha จากญี่ปุ่น”
อีกสิ่งที่เราขอให้เจนแชร์คือเคล็ดลับในการทำงานกับคนรัก บางคู่ไม่เวิร์คเลย ต้องทั้งล้มธุรกิจ ล้มความสัมพันธ์ไปเลยก็มี จนถึงตอนนี้อาจจะบอกไม่ได้ว่านานมาก แต่ทั้งคู่ก็หาความพอดีเจอ เธอทำยังไง? “ทุกคนมีความคิดของตัวเอง แต่ในการทำงานเราใช้เหตุผล ต้องเปิดใจยอมฟังกัน และ position ในธุรกิจนี้ค่อนข้างชัดเจน สูตรและรสชาติเราจะฟังเขามากกว่าตัวเอง แต่เขาก็ฟังเราในเรื่องของมาร์เก็ตติ้งมากเหมือนกัน” และในอีกมุมเธอรู้สึกเลยว่าทั้งคู่สนิทกันมากขึ้น “คนเป็นแฟนกันบางทีมันไม่ได้มีอะไรคุยกันมากหรอก คุยกุ๊กกิ๊กจุ๊กจิ๊กกันเป็นปกติ แต่พอได้คุยกันเรื่องงานมากขึ้น ได้เห็นกันและกันในอีกมุม มันเหมือนได้เติบโตไปด้วยกัน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน”
เคล็ดลับที่ทำให้ Relationship + Partnership รอดไปได้ “อย่างแรกเลยสำหรับคู่เราคือ ห้ามเก็บปัญหา ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเรา มีช่วงหนึ่งเราเก็บไปคุยกับเพื่อนไม่คุยกับเขาแล้วเหมือนเกือบจะระเบิดออกมา อีกฝ่ายเขาไม่รู้หรอกว่าเราสะสมอะไรมาก่อน เราแยกความขุ่นเคืองเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวไม่ได้หรอก แต่พอมีอะไรแล้วเคลียร์ทันทีมันดีขึ้นมากจริงๆ เรื่องเงินต้องชัดเจนในส่วนของธุรกิจ เราคือ พาร์ตเนอร์ที่แบ่งเปอร์เซ็นต์และหน้าที่ชัดเจน ส่วนในพาร์ตของความเป็นแฟนก็ผลัดกันดูแลกันไป ไม่มีเรื่องธุรกิจมายุ่งแล้ว”
สุดท้ายเจนทิ้งท้ายในฐานะของคนที่ทิ้งงานประจำที่หลายคนมองว่ามั่นคงมาจับธุรกิจอาหารที่เธอไม่คุ้นเคยมาก่อนดูว่า “ประสบการณ์สำคัญนะ แต่จังหวะเวลาก็สำคัญเหมือนกัน ความสำเร็จเรามองว่าไม่มีอะไรตายตัว การก้าวไปข้างหน้าของคนแต่ละคนอาจจะมีความเร็วไม่เท่ากัน ในฐานะของการค้าขาย เราต้องทำความเข้าใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลา และมองเห็นคู่แข่งให้ได้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าคู่แข่งมีแผนอะไรสิ่งที่ทำได้คือวิเคราะห์ และทุ่มใจลงไปในงานของเรา” เจนบอกว่าทำธุรกิจน่ะ แพสชั่นก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ แฟนมีแพสชั่นในเนยถั่ว ส่วนเธอมีแพสชั่นในการพัฒนาแบรนด์ “สุดท้ายเราเชื่อว่าโปรดักส์ที่ดี มันยั่งยืน”
ในอนาคตจะมีรสชาติใหม่ๆ มาให้ติดตามอีกแน่นอน! และยังคงจะขายออนไลน์ต่อไป ส่วนพาร์ตของออฟไลน์เราก็อยากจะไปให้ไกลขึ้นน่ะ อยากวางขายหลายๆ ที่ที่ตรงเป้าหมาย และ spreads ในแบบอื่นๆ ก็จะต้องมา เป้าหมายของทั้งคู่มองไปไกลมากๆ แต่แน่นอนว่าก้าวต่อไปยังคงเป็นก้าวที่สำคัญที่สุด
ติดตามเนยถั่วของเจนได้ทาง FB : https://www.facebook.com/flyingpeanuts
อ่านเรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: CLEO Thailand