ไหมและนน คู่ศิลปินและนักออกแบบเซรามิก ภายใต้แบรนด์ ‘ละมุนละไม’ หรือ Lamunlamai Craft Studio ที่สร้างงานเซรามิก ที่เริ่มมาตั้งแต่ตอนไหมเรียนมหาวิทยาลัยเลย “เราเรียนช่างวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ เราเลือกเอกวัสดุเซรามิก” เพราะอะไรเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง...
หลังจากทำธีสิสจบเธอก็จัดการต่อยอดมันซะ สร้างแบรนด์ละมุนละไมกับคนรัก “เราใช้ดินขาว (Porcelain) มาบวกกับการเคลือบแล้วตกแต่งสีสันเนื้อเคลือบให้แตกต่าง ละมุนละไมรับทำงานเซรามิกแบบ custom made ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าร้านอาหาร เชฟ โรงแรม คาเฟ่ มานั่งคุยกันเลยว่าใครอยากได้ดีไซน์แบบไหน เพื่อให้เขานำไปใช้พรีเซนต์อาหารหรือแบรนด์ของเขา และเราก็ไม่ได้มีขั้นต่ำในการผลิตด้วย ทำชิ้นต่อชิ้น ทั้งออกแบบและผลิตให้ครบ” ที่คุ้นตาเลยก็มี La Dotta, Canvas หรือ ศรณ์
“ช่วงหลังมานี้ก็มีเชฟหลายท่านก็ให้โอกาสเราได้ดีไซน์ภาชนะที่ช่วยนำเสนอ สื่อสาร เล่าเรื่อง แต่ละเมนูของพวกเขา งานเซรามิกของละมุนละไมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราวของอาหารเมนูนั้นๆ ค่ะ” แต่ถึงเราจะไม่ใช่เชฟ เป็นคนธรรมดาทำอาหารกินเองดีบ้านทุกวันก็ไปนั่งคุยกับไหมขอให้เธอช่วยดีไซน์ภาชนะเฉพาะใช้ที่บ้านเราได้เหมือนกัน “เราออกแบบใหม่กันได้เลย เพราะเราไม่มีกำหนดขั้นต่ำในการผลิตอยู่แล้วค่ะ”
ไหมทำชิ้นต่อชิ้น ปั้นมือ เผาอุณภูมิสูง สามารถใช้งานได้จริง เข้าเตาอบได้ปลอดภัย โชว์ได้ใช้ได้ “เราให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นและอีโมชั่น มันต้องไปด้วยกันได้ ภาชนะของเราเป็นงานศิลปะที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้”
แม้ ละมุนละไม ไม่ใช่เจ้าเดียวที่หันมาจับงานเซรามิกและทำมันอย่างจริงจัง แต่เธอก็ไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่ง “เรามองว่าจุดนี้เป็นการทำให้ตลาดเซรามิกเฟื่องฟู หน้าที่ของเราคือออกแบบ สร้างความแตกต่างและจุดเด่นของแบรนด์ให้ชัด ละมุนละไมตอบโจทย์ตรงไหนที่แบรนด์อื่นไม่สามารถทำได้ได้บ้าง แล้วความชื่นชอบมันจะถูกส่งต่อปากต่อปากไป ใครเห็นก็จำได้ เคยใช้แล้วเขาก็กลับมาใช้อีก”
ไหมและนลทำละมุนละไมมากว่า 7 ปีแล้วนะ ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้แค่ทำมันไปเรื่อยๆ แต่พัฒนาตัวเองตลอดเวลา “เราพยายามต่อยอดในประเด็นเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กำลังทำโปรเจคร่วมกับแบรนด์อื่นๆ ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสหกรรมของเรามาอัพไซคลิ่งในลักษณะไหนได้บ้าง อย่าง food waste ของอุตสาหกรรมร้านอาหารนำกลับมาผสมในดินเซรามิกมาทำเป็นภาชนะที่จะช่วยเล่าเรื่องของร้านอาหารเมนูนั้นๆ ว่าเขาสามารถที่จะ reuse ขยะมาใช้มาได้” ซึ่งเธอก็ทำร่วมกับร้านอาหารหลายๆ ร้าน และยังคงเปิดรับร้านใหม่ๆ ที่สนใจ เพื่อร่วมกันดีไซน์และผลิตเฉพาะสำหรับร้านเขา
ระยะเวลา 7 ปีไม่น้อยกับการใช้เวลาทุ่มเทกับอะไรบางอย่าง แต่ไหมไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับมันเลย ในแง่ของนักออกแบบเธอบอกว่า เมื่อเธอได้รู้โจทย์และความต้องการของลูกค้าแล้วได้นำไปพัฒนา ต่อยอดด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา นำเสนอเป็นสิ่งใหม่ๆ ให้กับลูกค้าของเธอได้ “ความเบื่อความเซ็งมีในทุกงาน แต่โชคดีที่เราจับจุดได้ ว่าความเป็นไปได้ของวัสดุที่เราเลือกใช้มันมีแค่ไหน และมันตอบโจทย์กลุ่มคนที่สนใจในงานของเราได้ยังไง” แม้โมเดลธุรกิจของเธอจะเปลี่ยนไปในแต่ละยุค แต่เธอยังคงเชื่อมั่นในการเป็นนักออกแบบที่ดีในการนำเสนองานออกแบบของเธอต่อผู้คนได้
“เราอยากพัฒนาทั้งตัวเราและงานออกแบบ และวงการเซรามิกไปเรื่อยๆ” เหตุผลที่เธอเลือก ‘เซรามิก’ มันไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อนหรอก ไหมบอกว่า “ตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าชอบหรือไม่ชอบ พอได้ค่อยๆ เรียนรู้วัสดุประเภทนี้มันเข้ามือ วัสดุเซรามิกมันมีช่วงระยะเวลาในการทำงานค่อนข้างจำกัด จากดินที่นิ่ม พอปั้นเสร็จแล้วจะแห้งและแข็ง พอเอาไปเผามันเปลี่ยนสีและไม่สามารถกลับคืนมาเป็นรูปทรงเดิมได้อีกแล้ว” และนี่คือความท้าทายในทุกกระบวนการทำงานที่ไหมเจอมาตลอด เธอเรียนรู้เซรามิกผ่านการฝึกฝนและอยู่กับมันจริงๆ
ติดตามอินสตาแกรมของแบรนด์ได้ทาง Lamunlamai
อ่านเรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand