หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า social anxiety หรือโรคกลัวการเข้าสังคม มันก็อาจจะไม่ใช่โรคอะไรขนาดนั้น แต่อาการที่ว่าเนี่ย ถ้าปล่อยให้เป็นไปนาน ๆ เข้าก็อาจจะกระทบการใช้ชีวิตเราได้เลยนะ จริง ๆ โรคกลัวการเข้าสังคมกับอาการตื่นเต้นหรือประหม่ามันก็แอบคล้ายกันอยู่นะ แต่ว่ามันก็มีจุดต่างแหละ โรคนี้มันก็คืออาการป่วยอย่างหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งบางคนเป็นแล้วก็คิดว่ามันไม่มีอะไร แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ แบบที่บอกก็อาจจะแก้ยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจอาการนี้ให้มากขึ้นกันสักหน่อยดีกว่า ว่ามันเกิดจากอะไรแล้วอาการมันมีอะไรบ้าง ลองเช็คตัวเองดู เราอาจจะเป็นโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้นะ
Social Anxiety คืออะไร
มันคือโรคกลัวการเข้าสังคม ก็ตรงตัวเหมือนชื่อเลย เวลาที่เราต้องอยู่กับผู้คนมาก ๆ หรือสถานการณ์ที่อาจจะมีคนจับจ้องสายตามาที่เรา ทีนี้แหละ อาการออกเลย เริ่มประหม่า อึดอัด แพนิค กังวลไปหมด ได้แต่คิดในใจว่า “เมื่อไหร่จะจบ ๆๆๆ” หรือบางครั้งก็รู้สึกกดดันหรือเครียดเวลาที่ต้องทำอะไรสักอย่าง เช่น คุยกับคนที่เราไม่สนิทด้วยหรืออาจจะเพิ่งเคยคุยกันครั้งแรก หรือแม้แต่การต้องพูดอะไรให้คนอื่นฟังเยอะ ๆ เจอแบบนี้คือกลัวสุด ๆ
อาการที่มันชัดออกมาทางร่างกายเลยก็มีนะ บางคนอาจใจเต้นรัว ๆ แบบผิดปกติ เหงื่อเริ่มมา พูดจาตะกุกตะกัก ไม่เป็นตัวเอง มือสั่น หรือแพนิคเกินกว่าปกติจนควบคุมสติให้กลับมาอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ก็มีนะ แต่อาการพวกนี้มันไม่ได้มาอยู่ตลอด ส่วนใหญ่มันจะมาตอนที่เราถูกบีบด้วยสถานการณ์ตึงเครียดแบบที่ได้บอกไป มันอาจจะดูยากหน่อยว่านี่คืออาการกลัวการเข้าสังคมหรือว่าแค่อาการตื่นเต้นเฉย ๆ วิธีดูความแตกต่างก็คือ อาการของนี้จะเป็นนาน 6 เดือนขึ้นไป ถึงแม้ว่าเราพยายามจะลดอาการประหม่าพวกนั้นแล้ว ไม่ว่าจะซ้อมพูด ยิ้มหน้ากระจกหรืออะไรก็ตาม ถ้าลองแล้วยังไม่หาย ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจกำลังเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมก็ได้นะ
แล้วอาการนี้มันเกิดจากอะไร ?
คนที่กำลังประสบกับอาการนี้อยู่ อาจจะเป็นเพราะเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มันทริกเกอร์ใจเราในอดีตก็ได้นะ เช่น ตอนเด็ก ๆ อาจจะโดนบูลลี่เวลาออกไปพรีเซ้นต์งานหน้าชั้นเรียน หรือพ่อแม่อาจจะไม่ได้ซัพพอร์ตหรือว่าเข้าใจปัญหาที่เราเป็น ณ ตอนนั้นสมัยเราเด็ก ๆ ซึ่งถ้าเคยเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นก็ได้เหมือนกัน มันอาจจะทำเราฝังใจ “ต่อไปนี้ฉันจะไม่ออกไปพูดต่อหน้าคนอื่นอีกแล้ว ฉันไม่อยากโดยล้อแล้ว กลายเป็นกลัวฝังใจไปเลยก็มีเหมือนกัน
แก้ยังไงดีล่ะ
เราว่าอาการนี้มันไม่ใช่อาการผิดปกติทางร่างกายที่ต้องรักษาให้หายด้วยมือหมอขนาดนั้น แต่มันคือความผิดปกติทางจิตใจมากกว่า เพราะฉะนั้นวิธีการแก้อาจจะต้องไปดูกันที่เรื่องจิตใจ หรือมายด์เซ็ตของบเราเอง เข้าใจแหละว่ามันยาก ทั้งนี้ถ้ารู้สึกว่ามันหนักมาก ๆ ก็ลองปรึกษาจิตแพทย์ได้เหมือนกันนะ เราว่ามันต้องใช้เวลาพอสมควรเลยที่จะค่อย ๆ จูนให้กลับมาเป็นปกติ ถ้าเอาแบบเบสิกที่เราพอจะทำได้ก็คือ หายใจเข้าลึก ๆ ทำใจให้สบาย เพราะบางทีมันอาจไม่ได้มีอะไรกดดันเราขนาดนั้นก็ได้ บางทีคนที่มองดูเราอยู่เขาอาจไม่ได้คืออะไรเลยก็ได้ ปล่อยใจสบาย ๆ เท่าที่ไหวแล้วก็ลุยเลย แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็อาจจะลองปรึกษาคุณหมอเพื่อทางออกที่ตรงจุดก็ได้
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand