ความจริงที่น่าเจ็บปวดอย่างหนึ่งคือเสียงที่เราพูดทำไมถึงไปไม่ถึงคนที่อยากให้ฟัง หรือในที่ทำงานสิ่งที่เราเสนอกลับไม่เคยได้รับการตอบรับอะไรเลย ทำให้พบว่าผู้หญิงกลายเป็นมีความเห็นน้อยลงทั้งที่สาวๆ อย่างเราเนี่ยออกจะพูดไปตั้งมากมาย แต่การพูดเก่งกับพูดแล้วปักเข้าไปในใจคนเลยเนี่ยต่างกันคนละฟ้ากับเหว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาอาชีพอย่างคุณลาทีชา เบิร์ด บอกว่าเพศและอคติมีผลต่อการรับรู้รับฟังของคนในที่ทำงานมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะบิ้วด์ในจุดนั้นเลยไม่ได้ ขอแค่ให้เรารู้ว่า…
- คนที่มีคนชอบไม่ได้แปลว่าเขาจะมีคนฟัง
เพราะบางคนปากหวานอย่างเดียว พยายามพูดให้คนชอบเขาแต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนจะเคารพและเชื่อในสิ่งที่เขาคิด และผู้หญิงก็เป็นเพศที่เซ้นซิทีฟง่าย ดังนั้นมีอะไรก็ไม่ได้พูดสิ่งที่รู้สึกจริงๆ แค่พูดตามน้ำให้คนไม่เกีลยด เลยไม่ได้โชว์ความสามารถ ความตั้งใจบางอย่างที่อาจจะแย้งคนอื่นไปบ้าง และบอกในแง่มุมที่ต่างไปด้วยเหตุผลว่าพูดไปแล้วคนอาจไม่ชอบเรา
- รู้ว่าจะพูดอะไรและรู้จังหวะว่าต้องพูดตอนไหน
เคยเจอมั้ยเพื่อนในที่ประชุมโพล่งขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทุกคนต้องเบรคแทบไม่ทัน หรือคนที่พูดแล้วจบไม่ลง พูดยาวทำการประชุมการคุยนั้นเนิ่นนานเกินไป ไม่ว่าจะพูดอะไรก็ตามให้เตรียมเรื่องที่จะพูด รู้ไว้เสมอว่าพูดเพื่ออะไร การพูดนั้นมีหลายคนหรือพูดสองต่อสองกับหัวหน้าก็ไม่เหมือนกัน
- น้ำเสียงต้องใช่ ภาษาต้องหนักแน่น
ถึงแม้บางอย่างเราจะไม่ค่อยชัวร์ แต่เคยลองพูดแบบมั่นๆ ดูซิว่ารีแอคคนในห้องนั้นจะเป็นยังไง ปรากฏว่าเวิร์คนะ แสดงว่าคนเชื่อในท่าทางที่ดูนิ่งๆ พูดด้วยน้ำเสียงที่มั่นคง คนที่ไม่ค่อยได้พูดต้องลองฝึกหน้ากระจกบ่อยๆ จะคุมสถานการณ์ได้เก่งขึ้น
- ทำการบ้านมาก่อนพูด
สิ่งที่เราตั้งใจจะนำเสนอ ถ้ามาพร้อมข้อมูลดาต้า การศึกษาวิจัย มีหลักฐาน เจอแบบนี้ใครฟังก็ต้องเชื่อ เพราะไม่ได้เริ่มมาจากการคิดและพูดแบบลอยๆ คนที่รู้จักทำการบ้านมายังไงก็ได้เปรียบและดูเป็นคนน่าเชื่อถือในระยะยาว
- งานพูดไม่ได้ เราคงต้องช่วยพูด
หลายคนบอกว่าไม่ชอบพรีเซนท์ตัวเองให้งานบอกไปเองว่าเราเก่งจริงหรือเปล่า คำพูดนี้จริงอยู่แต่นานนะกว่าจะเห็นผล สำหรับบางคนก็อาจไม่มีคนได้เห็น บางคนก็ต้องโชว์ให้ชาวโลกได้เห็นบ้างว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วทำได้ดีด้วย นั่นเลยเป็นความสำคัญของการทำพอร์ตโฟลิโอแล้วให้คนได้มาชื่นชมกันบ้าง