อย่าปล่อยให้ตัวเองเอาคุณค่าของการทำงาน มาเป็นตัววัดทุกสิ่งของชีวิต
เพราะสุดท้ายเรานั่นล่ะ ที่จะต้องเป็นคนกลับมาซ่อมตัวเราเอง
รู้จักกับฝนในที่ทำงาน ตั้งแต่วันแรกก็เห็นความตั้งใจในการทำงานแรงๆ ของเธอ ฝนทำงานสายมาร์เก็ตติ้ง เธอมีบุคลิกที่ไว ฉลาด จับประเด็นเก่ง และเก็ทเร็ว บวกกับประสบการณ์ทำงานสายดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง โฆษณา มาร์คอม ที่ฝนฝึกตัวเองมาเยอะมากๆ ด้วยอายุสามสิบกว่าๆ นี้ ก็เลยทำให้เราแอบชื่นชมฝนมาตลอด แล้วพอได้มีโอกาสคุยกันนานๆ สิ่งที่ฝนเล่ากลับทำให้เราต้องอึ้ง ประโยคที่เธอบอกว่า
“หนูเคยเบิร์นเอาท์เลเวล 3 มาแล้วค่ะ”
เราเลยต้องตั้งใจฟังเธอเลยทีนี้ เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงคนนี้ แล้วเธอก็ยินดีแชร์เรื่องราวให้เราฟังแบบที่น่าจะเตือนสติสาวทำงาน ที่กำลังตำๆๆๆๆ และปั่นๆๆๆ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่คิดชีวิตอยู่ตอนนี้ได้
ฝนทำงานสายมาร์เก็ตติ้ง เธอเลยเริ่มจากธรรมชาติของงานสายนี้ก่อน “สิ่งที่เราเจอทุกวันคือเรื่องการเปลี่ยนแปลง เราทำงานสายมาร์เก็ตติ้ง เราต้องทำงานกับคนเยอะ แล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงตลอด มันเลยทำให้เราต้องเปลี่ยนตาม แล้วบางทีไม่ใช่เปลี่ยนรายเดือน แต่คือรายวัน มันเลยมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และไปแก้ปัญหาตลอดเวลา หน้าที่หลักของเราคือต้องหาตลาดขายของ แล้วเราอยู่มาร์เก็ตติ้งคอมมิวนิเคชั่น เราต้องพูดยังไงให้ขายของได้แล้วเข้ากับข้างในใจของคนทุกวันนี้” แต่ละวันที่ต้องตื่นเต้น เปลี่ยนแปลง ฝนบอกว่าคนทำงานมาร์เก็ตติ้งยังต้องเอาตัวเองไปสวมในรองเท้าคนอื่นด้วย ทั้งทีมข้างนอก และทีมในแผนกตัวเอง ต้องเข้าใจลูกค้า ต้องบริหารความคาดหวังของผู้ใหญ่ด้วย ทั้งหมดทั้งมวล มันเลยทำให้มีเรื่องมากระทบจิตใจได้ทุกวันเหมือนกัน
ฝนเป็นสาวทำงานที่เธอคำนึงถึงผลลัพธ์ งานต้องเสร็จ ต้องออกมาดี คนรอบตัวต้องโอเคกับเธอ เธอเลยต้องสู้กับความเร็วของโลก และความคาดหวังของคนรอบตัว ฝนทำงานอย่างหนักไปเรื่อยๆ จนร่างกายมาเตือนสติเธอแล้ว ฝนเริ่มสังเกตตัวเองว่า “ทำไมเราไม่อยากทำอะไรเลย” เธอมีอาการหนักเข้าๆ ก็เลยไปหาหมอแล้วรู้ว่าเธอเข้าสู่สภาวะ “Burn Out” แล้วนั่นเอง
“ตอนเป็นเบิร์นเอาท์อายุสามสิบต้นๆ เพราะเป็นคนลุย ยิ่งโดนให้ทำงานเยอะๆ ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ปฏิเสธเลย ทำทุกอย่าง จนสุดท้ายมันจะเหนื่อยจนคิดงานไม่ออก เราทำตอนสมองไม่พร้อม คนเราสมองทำงานได้ดีสุดในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราบีบคั้นไป สมองจะล้า ก็จะเกิดอาการคิดงานไม่ออก เบื่อหน่าย เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเป็น จนเรารู้สึกว่า เหนื่อยตลอดเวลา ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกินอะไรอร่อยๆ ไม่ออกไปเที่ยว ตอนนั้นไปอเมริกาช่วงคริสมาสต์ เราไม่ทำอะไรเลยนะ คือไปนอนอย่างเดียว ไม่มีการแพลนไปเที่ยวใดๆ ทั้งสิ้น ก็เริ่มคิดแล้วว่าเราคงเป็นอะไรสักอย่าง”
ฝนไปหาหมอหลังจากนั้น แล้วครั้งนี้ล่ะทำให้ฝนต้องหันมามองตัวเองใหม่ และเธอต้องรักษาตัวเองแล้ว
“หมอเลยบอกว่าเราใช้สมองช่วงที่ไม่พร้อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เราบังคับตัวเองให้คิด และเราเป็น Burn Out เลเวล 3 แล้ว ถ้าเลยไปที่เลเวล 4 มันคือ Point of no turning back เราจะกลับมาเป็นคนเดิมไม่ได้แล้ว”
สำหรับฝนสิ่งที่ต้องเอามาช่วยเพื่อแก้อาการเบิร์นเอาท์ของเธอ ฝนบอกว่าเป็นสิ่งที่ทรมานเหมือนกันนะ “ถ้าอยากหายวิธีแก้คือ เราต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็น เลื่อนให้เป็น เราไม่ต้องบอกว่า “ได้” กับทุกอย่างที่วิ่งมาหาเรา ผลักออก เลื่อน คือการบริหารความคาดหวังของคนอื่น แล้วการที่เราปฏิเสธงานคนเอง เราก็ซัฟเฟอร์นะ เพราะก็แอบคิดว่าเขาจะคิดยังไงกับเรา และจะกระทบคนอื่นมั้ย แต่เราต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำเราอาจจะกลับไปเป็นเราคนเดิมไม่ได้แล้ว” ฝนเลยตัดสินใจลาออก ตอนนั้นเธอทำงานเป็นมาร์คอม ที่มีการทำงานแบบ sprint ทำงานเอาผลเร็วๆ ในระยะเวลาสั้น ในที่สุดเธอก็เลือกที่จะรักษาตัวเอง
ช่วงเวลาที่ฝนรักษาตัวเอง เธอต้องย้อนเอายิ้ม เอาความร่าเริงของตัวเองกลับมา เลยทำให้เธอได้เข้าใจเรื่องสุขภาพตัวเอง และรู้ว่าครอบครัวสำคัญมาก “เพราะเราไม่ได้ซ่อมตัวเองแค่วันสองวัน มันนานนะกว่าเราจะกลับมาสดใส มีความหวัง มีความสุขและพร้อมจะครีเอทงานออกมา” ฝนเลยอยากบอกทุกคนว่า
“ทุกคนไม่จำเป็นต้องซ่อมตัวเอง เราดูแลตัวเองได้ระหว่างทาง ไม่ต้องรอจนซ่อมตัวเองแบบเรา”
ฝนพัก แล้วพอหายเธอก็กลับเข้าสู่โลกทำงาน คราวนี้ถ้าเจองานที่จะทำร้ายเธอแน่ๆ ฝนก็จะไม่ทำ หรือเห็นสัญญาณมา เธอก็ใจแข็งโบกมือลาเลย จนล่าสุดฝนได้ทำงานที่ลงตัวขึ้น และได้ดึงความสามารถของตัวเองมาใช้ในจุดที่สร้างความท้าทาย และทำให้เธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถามฝนว่าแล้วคราวนี้เราจะพกอาวุธอะไรมาใช้กับงานดี ฝนบอกว่าต้องมีสองอย่างคู่กันเลยคือ outward mindset และ growth mindset
“มาเข้าใจมากๆ ว่าเรื่องมายด์เซ็ตสำคัญมากในทุกวันนี้ นอกจากเราต้องเข้าใจตัวเองแล้ว เราต้องเข้าใจคนอื่นด้วย Outward mindset คือการมองลูกค้า ทีม หัวหน้า คนอื่นๆ มันมีประโยคที่ว่า “ฉันจะทำอะไรให้ช่วยเธอได้บ้าง” ประโยคแค่นี้ถ้ามีเรื่องอะไรมากระทบเรา มันจะลดความของขึ้นได้เหมือนกันนะ” วิธีที่ฝนใช้คือ ให้เข้าใจมุมมองข้างนอก มุมมองของคนอื่นไว้ก่อน และก่อนที่จะปะทะเขา ให้ถามเขาว่ามีอะไรให้ช่วยได้บ้างก่อน แล้วค่อยมาว่ากัน
อีกสิ่งที่ฝนบอกจำเป็นมากๆ เหมือนกันก็คือ Growth Mindset “คือการให้มองทุกอย่างแบบล้มแล้วลุก แล้วอย่าเอาอะไรมาเป็นเรื่องส่วนตัว เราต้องกลับมาคิดให้ได้ทันทีว่า “ดีแล้วที่มันเกิด เราจะได้รู้ว่ามันผิด” ทุกเรื่องที่เกิด เกิดเพื่อให้เรารู้ แค่นี้เราก็จะไม่จมกับตัวเองนาน มันต้องมองว่าไม่เป็นไร ผิดแล้วเรียนรู้ แล้วไปต่อเลย”
ฝนย้ำว่ายิ่งทำงานสายที่ต้องใช้ครีเอทีฟ จะคิดลบไม่ได้ ทุกอย่างที่คิดต้องออกมาบวก เพราะต้องคิดเพื่อเข้าไปในใจคน ถ้าเราปรับเอาโกรว์ธ มายด์เซ็ตมาใช้ได้ ก็จะยิ่งมาเยียวยาหัวใจเราได้มาก “คนทำงานวันนี้ไม่มีทางไม่ผิดพลาด เราต้องเจอเยอะมาก ถ้าเราไม่มองให้มันเติบโตไปข้างหน้า เราจะท้อแท้ และสิ้นหวัง เลยเป็นเรื่องที่ต้องฝึกมองให้ได้เลย”
ถามฝนต่อว่าแล้วจะฝึกยังไงดี? เธอบอกว่าต้องมองที่เป้าหมายเป็นหลัก และอย่าไปใส่อารมณ์กับความผิดพลาดที่เกิดระหว่างทาง
“เราต้องปรับมุมมองว่า ดีนะที่รู้ ถ้ามันไม่เกิดเราจะไม่เห็นมุมนี้เลยนะ”
สิ่งแบบนี้ไม่ใช่ว่าฝึกวันสองวันแล้วได้ แต่ทุกอย่างจะค่อยๆ เกิดกับเราเอง เราแค่ต้องปะทะ และพยายาม “เป็นเหมือนการเดินทางกับตัวเองนะ ฝึกเห็นใจคนอื่น ฝึกให้ไม่ย่อท้อ เป็นสิ่งที่ต้องฝึกทุกวัน มันจะไม่มีว่าเราบรรลุแล้ว มันคือเรื่องที่ทำไปเรื่อยๆ ให้เป็นนิสัย แล้วมันจะเกิดความสบายใจกับตัวเรา เราทำงานการสื่อสาร งานเราคือ positive approach เราต้องเสนอแต่สิ่งดีให้คน เราไม่สามารถหาข้อจับผิดมาสู้กันได้” นอกจากโกรว์ธ มายด์เซ็ตกับคนอื่นๆ ได้แล้ว ตัวเราเองก็ต้องอย่าลืม การแบ่งเวลามาเยียวยาตัวเองก็สำคัญด้วย
ฝนเคยเบิร์นเอาท์ไปแล้ว เธอเกือบต้องรักษาตัวเองแบบระยะยาว ก็เลยกลับมาเตือนตัวเองไว้บ่อยๆ “ถ้าเราขึ้นทั้งวัน ต้องพักเบรค หายใจ อยู่คนเดียว ไม่สื่อสารกับใครทันที ถอยออกมา ทุกอย่างรอได้ กินขนมอร่อย หรือแว่บเข้าติ๊กตอกขำๆ ครึ่งชั่วโมง หายใจลึกๆ สองสามที ก็จะช่วยให้ช้าลง” นี่คือวิธีที่ฝนคอยรักษาตัวเองไว้ตลอดเวลา
เธอยังตามเตือนสติตัวเองต่อเนื่องด้วย ฝนจดสิ่งที่เป็นข้อผิดพลาดของตัวเองไว้เสมอ “เราจะเหมือนเป็นกระจกสะท้อนกับตัวเราเอง เรามีหนังสือจดข้อผิดพลาดของตัวเองเป็นข้อๆ อย่างสม่ำเสมอ ตอนนี้มี 35 ข้อละ แล้วก็ต้องคอยรู้ว่าเราใกล้จะเบิร์นเอาท์แล้วหรือเปล่า แล้วอย่าคิดว่าการอยู่เฉยๆ คือการขี้เกียจ มันคือการเยียวยาเหมือนกัน แล้วเราต้องมีจุดมุ่งหมายว่าทำอะไรไปเพื่ออะไร จะได้ไม่รู้สึกผิดกับตัวเอง เวลาเราพัก ก็เพื่อให้สมองโล่งๆ ด้วย เพื่อกลับมาแบตเต็มได้ด้วย”
บทเรียนครั้งนี้ของฝนทำให้เธอเอามาปรับใช้ในการทำงานได้ดีขึ้น เธอรู้ว่าทำไมเธอถึง Burn Out อย่างชัดเจนแล้ว นอกจากงานที่มากมาย เธอบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเธอเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเมื่อได้รับมอบหมายงาน “เราไม่ได้คิดไปเองนะ เราทำแบบทดสอบระดับอินเตอร์เลย ทำแล้วผลมันออกมาว่างานที่เราทำ คือการได้รางวัล การวัดคุณค่าของงานคือการได้ทำงาน แล้วผลเสียไม่ได้อยู่แค่กับเรา แต่กับทีมด้วย” ฝนเซ็ตจุดมุ่งหมายใหม่ให้ตัวเองแล้ว เธอต้องลดการทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพราะสุดท้ายอะไรที่ไม่บาลานซ์ ก็จะตกมาอยู่กับตัวเธอนี่ล่ะ
ตอนนี้เธอมีจุดมุ่งหมายในการทำงานก็คือ ทำงานเพื่อสร้างความไว้ใจระหว่างเธอและทีมงาน เพราะเมื่อไว้ใจกันแล้ว ฝนบอกว่าเราจะทำงานสนุกขึ้น
ถามเธอว่าแล้วอะไรที่จะทำให้เธอทำงานนั้นได้นานๆ “เราต้องได้เรียนรู้ ต้องมีความรู้สึกว่าท้าทาย และต้องมีความรู้สึกว่าสิ่งนี้เราปั้นได้ มีอำนาจตัดสินใจในงานนั้นได้” เพราะถ้ายังมีรูมให้ไปต่อได้ คนทำงานก็จะมีกำลังใจ แต่ถ้าอะไรที่สุดทางแล้ว ไม่ได้เรียนรู้ ไม่มีอะไรท้าทาย ทำงานตามใบสั่ง ก็คงไม่ต้องใช้ Growth Mindset สู้กับตัวเองขนาดนั้นหรอก โกรว์ธ มายด์เซ็ตไม่ใช่การทนอยู่เสมอ แต่คือการหาโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเองด้วย
และขนาดว่าฝนงานเยอะแค่ไหน เธอก็ตั้งใจว่าต้องเรียนรู้ หาความรู้ใหม่ๆ เพิ่ม ฝนอยากเรียน Economic Behavior และ Digital Psychology เธอบอกว่าเราต้องอย่าหยุดที่จะเรียนรู้ เลยถามฝนต่อว่าคิดว่าในยุคนี้เราต้องฝึกสกิลล์อะไรให้เป็นให้ได้บ้าง เธอบอกว่า..
- สกิลล์การเรียนรู้ ต้องรู้จักอ่าน แบ่งเวลามาหาความรู้ใหม่ตลอด เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดตลอด อย่าลืมว่าสิ่งที่พาเรามาถึงวันนี้ มันไปต่อข้างหน้าไม่ได้นะ คือเราอาจต้องทำลายสิ่งที่ตัวเองเคยรู้มา แล้วเรียนรู้ใหม่ไปด้วย อย่าไปติดกับวิธีเดิมๆ ในการทำงานด้วย
- ต้องอ่านดาต้าให้เป็น คือพวกข้อมูลตัวเลขต่างๆ และเล่าให้คนอื่นฟังให้เข้าใจด้วยนะ
- ต้องคิดกลยุทธิ์ได้ เพราะทุกที่ทำงานต้องมีคนทำกลยุทธิ์เป็น ที่เป็นมาร์เก็ตติ้ง การขาย การสื่อสาร ถ้าเรารู้เราจะมีมุมมองในการทำงานที่เห็นภาพรวมทั้งหมด
- ฝึก empathy ด้วย คือทำความเข้าใจคนที่เราต้องเกี่ยวข้อง เข้าใจคนอื่นให้มากๆ
- ฝึกความเป็นผู้นำ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเป็นหัวหน้าอย่างเดียวนะ แต่ถ้าเราเป็นลูกน้อง เราก็ต้องบริหารหัวหน้าเราให้เป็นด้วย และฝึกการตัดสินใจเอาไว้
คลีโอขอขอบคุณฝน ณัฎฐา พิจิตรพลากาศ เราได้อะไรจากเธอมากมายเลย