นักวิจัยบอกว่ากินเวลาไหนก็ได้ แค่คิดก่อนเอาอะไรเข้าปากว่าวันนี้เรากินไปปริมาณเท่าไหร่แล้ว เพราะคนที่อยากลดน้ำหนัก ไม่เห็นทางไหนที่ทำได้ง่ายและฮิตเท่ากับการทำ IF หรือ Intermittent Fasting คือการจำกัดเวลาว่าช่วงไหนกิน ช่วงไหนอด ซึ่งวิธีที่ฮิตๆ ทำกันมีทั้ง 16:8 กิน 8 ชั่วโมง ห้ามกินอาหารเลย 16 ชั่วโมง หรือ 12:12 กิน 12 ชั่วโมง อด 12 ชั่วโมง บางครั้งยังสอนกันมาว่าในช่วงเวลาที่กิน จะกินเท่าไหร่ก็ได้ ฟาดเค้ก 3 ปอนด์ก็ไม่อ้วนเหรอ? ดีอ่ะ…แต่คลีโอได้ไปเจองานวิจัยล่าสุดบอกว่าการจำกัดเวลาไม่ได้มีผลทำให้เราลดน้ำหนักได้ขนาดนั้น โดยนักวิทยาศาสตร์จาก Southern Medical University ในประเทศจีนได้ทำการศึกษาตลอด 1 ปีเต็ม แบ่งออกเป็นคนทำ IF กินได้ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึงบ่าย 4 โมงเย็น น้ำหนักของคนกลุ่มนี้ไม่ได้ลดลงแตกต่างจากคนที่กินเวลาไหนก็ได้ของวัน ทำให้ได้พบว่าคีย์หลักคือปริมาณแคลอรี่ที่ได้ต่อวันมากกว่า
กินเวลาไหนก็ได้ สำคัญอยู่ที่จำนวนอาหารที่กินต่างหาก!
งานวิจัยนี้ทดลองกับคนจำนวน 139 คนที่มี BMI ระหว่าง 28-45 ผู้ชายให้กินอยู่ที่ 1,500-1,800 แคลอรี่ต่อวัน และผู้หญิงกินอยู่ที่ 1,200-1,500 แคลอรี่ต่อวัน ตลอดหนึ่งปีคนที่ fasting หรือไดเอทแบบจำกัดเวลาตามแนวทาง IF ลดน้ำหนักได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7.9 กก. ส่วนคนที่กินเวลาไหนก็ได้ ลดอยู่ที่ 6.3 กก. ดูแล้วจำนวนน้ำหนักที่ลดได้แทบไม่ต่างกันมาก ยังรวมไปถึงมวลไขมัน, BMI, ความดันโลหิต, น้ำตาลในเลือด, ค่าไตรกลีเซอไรด์ และระบบเผาผลาญต่างๆ วัดออกมาได้ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ที่ค่าเฉลี่ยดูว่าคนทำ IF ลดได้มากกว่าก็น่าจะมาจากปริมาณของน้ำในร่างกายไปอีกซะด้วย
และจากการทดลองทั้งสองกรุ๊ปนี้ ผลดีที่ได้คือพวกเขามีสุขภาพดีขึ้นจากเคยมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนด้วยการกำหนดแคลอรี่ที่กินในแต่ละวัน สรุปได้ว่าการจำกัดอาหารได้ผลมากกว่าการจำกัดชั่วโมง แต่วิธีการกินแบบ IF เหมือนการสร้างกรอบเวลาให้คนกินอาหารน้อยลงไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าใครอยากลดน้ำหนักและถูกจริตกับการตั้งเวลาขึ้นมาอย่าง IF ก็ทำได้เลย
แต่ IF หรือการลดน้ำหนักวิธีอื่นๆ ที่บอกต่อกันไม่ได้หมายความว่าเหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีความผิดปกติเรื่องการกินอาหาร คนที่น้ำหนักตัวปกติอยู่แล้วและคนที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ทางที่ดีควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญก่อนจะลดน้ำหนักที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของเราให้ปลอดภัยที่สุดดีกว่า