ในสังคมเรามีความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ความรู้สึกของนั้นซับซ้อน ความสัมพันธ์ของเรากับคนที่เรารู้สึกดีด้วยก็เช่นกัน การที่เรารู้สึกชอบคนๆนึง นึกถึงตลอด อยากใช้เวลาด้วย แบบนี้เรียกว่าความรักหรือเปล่านะ
นักจิตวิทยาชาวอเมริกันคนหนึ่งมีชื่อว่า Robert Sternberg ได้แนะนำทฤษฎีความรักของเขาในบทความปี 1986 ที่ชื่อว่า “ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก” หรือ The Triangular Theory of Love ว่าแต่ทำไมต้องสามเหลี่ยมล่ะ? Robert Sternberg เชื่อว่าควารักมาจากส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ
- Intimacy “ความสนิท” มักจะเกิดมาจากความใกล้ชิด และจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน เป็นความอบอุ่นใจ เหมือนสบายใจที่จะอยู่ร่วมกับคนๆนี้ ตัวอย่าเช่นความสัมพันธ์ที่สนิทกันแบบ “เพื่อน” ที่มักจะคงที่เมื่อเวลาผ่านไปและจะกลายเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว อย่างไรก็ตามสิ่งที่ซับซ้อนคือความใกล้ชิดก็สามารถก่อให้เกิดการเข้าใจผิดได้
- Passion “ความหลงใหล” มักจะมาจากความสเน่หา เช่น ชอบคนนี้เพราะรูปลักษณ์ รูปร่าง และหน้าตาที่ชวนดึงดูด ทำให้อยากมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วย เกิดความเร้าอารมณ์ได้ง่ายเมื่ออยู่กับคนนี้ อย่างไรก็ตามความรู้สึกแบบนี้มักเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆถ้าขาดปัจจัยอื่น
- Commitment “ความผูกมัด” สำหรับบางคนอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่กับบางคนก็ต้องการสิ่งนี้ในความสัมพันธ์ ความผูกมัดก็คือการที่คนสองคนเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์ให้คงที่ มีการวางแผนอนาคตร่วมกัน มีเป้าหมายที่จะอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดการประณีประนอมระหว่างกันและมีการปรับตัวเพื่อให้ความสัมพันธ์ได้พัฒนาไปไกลและคงอยู่นานๆ
Robert Sternberg ก็ยังได้จำแนกความรู้สึกรักในความสัมพันธ์ออกมาทั้งหมด 8 รูปแบบ เราจึงยกมาให้เพื่อนๆได้อ่านกัน เพื่อลองเช็คดูว่าความสัมพันธ์ของเพื่อนๆนั้นเป็นแบบไหนกันบ้าง
Non love คือไม่ใช่ความรักและไม่ได้หมายถึงเกลียด แต่ไม่มีองค์ประกอบใดในสามข้อข้างบน ยกตัวอย่างเช่น คนที่เดินผ่านกันหรือพูดคุยกันด้วยความจำเป็น เช่นติดต่อธุระ
Liking คือความชอบ คือมีแค่ Intimacy หรือความใกล้ชิดและความอบอุ่นต่อกัน ปราศจากความรู้สึกหลงใหลหรือความผูกพันระยะยาว ความชอบสามารถเห็นได้ในความสัมพันธ์ในชีวิตของเราที่เราเรียกว่ามิตรภาพ มิตรภาพสามารถดำรงอยู่ได้ในระดับที่แตกต่างกัน
Infatuated love คือรักแบบหลงใหล คือมีแต่ Passion บางคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรู้สึก “รักแรกพบ” แต่ความจริงคือความตื่นตัวทางจิตสรีรวิทยา ทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีการหลั่งของฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น และการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ความรักประเภทนี้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่มีเวลาให้ความรู้สึกใกล้ชิดได้ก่อตัว หรือความมุ่งมั่นที่จะอยู่ร่วมกันในอนาคต
Empty love ความรักที่ว่างเปล่า คือมีแต่ Commitment มีแต่ความมุ่งมั่นของความรักอยู่ในความสัมพันธ์ แต่องค์ประกอบความใกล้ชิดและความหลงใหลนั้นไม่มี ความรักประเภทนี้สามารถพบได้ทั่วไปในความสัมพันธ์ระยะยาวที่คู่รักสูญเสียความรู้สึกต่อกัน หรือกับบางคู่ที่ถูกคลุมถุงชน คือมีความมุ่งมั่นที่จะแต่งงานกันแต่ขาดความสนิทและความหลงไหล
Companionate love ความรักแบบเพื่อน คือความใกล้ชิดและความมุ่งมั่นในความสัมพันธ์ ไม่ได้มีความหลงไหล ไม่ได้สนรูปลักษณ์ โดยมากคู่แต่งงานมักจะอยู่ด้วยกันแบบเพื่อน เมื่อความหลงใหลในความสัมพันธ์หายไป
Romantic love ความรักแบบโรแมนติก คือความรักมีส่วนประกอบของความใกล้ชิดและความหลงใหลอยู่ในความสัมพันธ์ แต่ไม่มีความมุ่งมั่น ยกตัวอย่างเช่นคู่รักอย่าง “โรมิโอและ จูเลียต” ที่ซึ่งทั้งคู่แบ่งปันความรู้สึกที่ใกล้ชิดและเร่าร้อนต่อกัน แต่ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อกันอย่างแท้จริง
Fatuous love ความรักที่น่าเบื่อหน่าย คือความรักที่มีส่วนประกอบของความหลงใหลและความมุ่งมั่น แต่ไม่สนิทกัน แต่ความสัมพันธ์นี้ขาดแง่มุมของความรักจริงมีแนวโน้มสูงที่จะล้มเหลว คู่รักควรได้ใช้เวลาร่วมกันจนเกิดความใกล้ชิดและรู้ใจจึงจะอยู่ด้วยกันรอด
Consummate love “รักที่สมบูรณ์แบบ” ก็คือเมื่อองค์ประกอบทั้ง3อย่างอยู่ในความสัมพันธ์ ก็จะมีความครบรสเหมือนเป็นทุกอย่างให้กันและกัน เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นแบบอย่างให้กับสังคม เมื่อพูดถึงความรัก คนเรามักจะเห็นภาพความรักที่สมบูรณ์ คนส่วนใหญ่อยากที่จะมีความสัมพันธ์แบบนี้
ความรู้สึกระหว่างคนสองคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตามเราไม่อาจรับรู้ได้ว่าความสัมพันธ์แบบไหนจะรอดหรือจะล้มเหลว เพราะฉนั้นการสื่อสารของคู่รักถือเป็นสิ่งสำคัญ ทางคลีโอเราขอเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ หวังว่าข้อมูลของเราจะเป็นประโยชน์เพื่อให้คู่รักนำไปปรับใช้กันค่ะ
อ่านเรื่องอื่น ๆ ได้ที่ CLEO Thailand และ FB > CLEO