ได้คุยกับเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง เธอเป็นคนน่ารัก สนุกสนาน ทำงานเก่ง แต่เธอยอมรับกับเราตั้งแต่ 15 นาทีแรกที่คุยกันว่า “หนูเป็นซึมเศร้ามาตลอดชีวิต” แทบจะไม่เชื่อ และดูไม่ออกเลยว่าเธอมีอะไรในใจกับตัวเองขนาดนั้น แต่ทุกวันนี้เธอใช้ชีวิตด้วยการกินยา ไปหาจิตแพทย์เป็นประจำ ไม่สนใจใคร และไม่กลัวตายเลยสักนิด
“หนูมีทริกเกอร์ตั้งแต่ตอนเด็กๆ หนูอยู่กับครอบครัวที่แปลกๆ หน่อย เคยทำผมไม่เหมือนเด็กผู้หญิงในโรงเรียนอยู่คนเดียวแต่แม่บอกว่าแม่แม่อยากให้ทำทรงนี้ หนูเลยอยู่กับการที่เราแปลกก็ได้ เราไม่เหมือนคนอื่น และก็เลยมาลงที่เราอยู่ของเราคนเดียวก็ได้นะ”
เวลาผ่านไปหนึ่งปี สองปี ห้าปี สิบปี และยี่สิบปี เธอก็ยังคงมีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่เรื่อยๆ เราถามเธอว่าอาการเธอเป็นอย่างไรบ้าง “ก็ตายเลยก็ได้นะ ไม่กลัวเลย แล้วก็หาความหมายไม่เจอ ว่าจะอยู่ไปทำไม ไม่แคร์ใคร ไม่สนใจใคร ไม่รู้ว่าสุดท้ายชีวิตต้องการอะไร” และเพราะเหตุที่เธอหาความหมายของตัวเองไม่เจอ มันเลยทำให้เธอรู้สึก lost จริงๆ “ตัวตนของเรามีนะ แต่มันอยู่ที่ไหน มันคือตัวเราที่บริหารจัดการความรู้สึกไม่เป็น แล้วเราไม่รู้จะยึดอะไรดี?”
ทำให้เธอบอกเราว่าคนที่เป็นซึมเศร้ายุคนี้ อาจมาจากความตั้งใจอยากเป็น อยากมีอะไรสักอย่าง แล้วพอไม่ได้ ก็จะรู้สึกว่าตัวเขาไม่ดีพอ หรือบางคนอยากได้การยอมรับ แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่ได้สักที หรือบางคนอาจมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง แต่กลับหาว่าตัวตนจริงๆ คืออะไรไม่เจอ เขาก็ lost ได้เลย
สำหรับเธอช่วงนี้ก็ยังมีอาการอยู่ เธออยู่ได้ด้วยยาเป็นกำมือทุกวัน “มีเป็นอยู่บ้างครั้ง ก็จะรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร อยากนอนขดตัวกลมๆ แล้วหายไปเลย บางทีก็นอนมองพัดลมไปอย่างนั้น คือมันก็จะรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตต่อไปแล้ว เราเหนื่อย สำหรับเราคือ เราตายเมื่อวานนี้ เมื่อเดือนก่อน หรือพรุ่งนี้มีค่าเท่ากันนะ มันไม่กลัวอะไรแล้วเลย จะเป็นอะไรก็ช่างมัน”
เธอเริ่มคุยกับนักจิตบำบัดตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ คุยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ครั้งละหนึ่งชั่วโมง หลังจากที่ปรึกษาหมอไปได้สักพัก เธอก็วิเคราะห์ตัวเองได้ว่า “เราเป็นคนไม่ค่อยเหมือนใครมาแต่เด็ก มีโลกของตัวเองสูง เป็นคนที่ยืนบนเส้นคาบเกี่ยวที่ไม่ไปไหนสักทาง แล้วเราต้องเอาตัวรอดให้ได้ แม่เลี้ยงโดยโยนเข้าตู้หนังสือ พ่อกับแม่เลี้ยงเราแบบเลือกสิ่งที่ดีมาให้ แต่ไม่ได้ลงดีเทลว่ามันกระทบเรามั้ย ตอนนั้นอึดอัดนะ รู้สึกตัวเองเหมือนตัวประหลาด และที่บ้านไม่มีการพูดคุยเหตุผลให้เข้าใจ เราถูกทิ้งบ่อยก็เลยอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราก็เลยเป็นแนว go with the flow แล้วกัน แล้วตอนนี้นึกไม่ออกเลยว่าครอบครัวอบอุ่นเป็นยังไงเหรอ” แต่เรื่องเรียนเธอไม่เคยเสีย เอ็นทรานซ์ติดคณะที่คะแนนสูงสุดของสายศิลป์ จบมาได้งานทำที่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย
หลังจากไปหานักจิตบำบัด จิตแพยท์มานานเป็นสิบปี หมอสรุปว่าเธอไม่มีศรัทธาในสิ่งใดอย่างจริงจัง ไม่มีหลักในการโยงสิ่งใด “เราไม่มีจุดมุ่งหมาย ไม่มีความทะเยอทะยาน แต่มันก็ใช้ชีวิตไปได้นะ แต่ข้างในมันกลวง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเราจะใช้ชีวิตไปทำไม ในใจเราไม่แข็งแรงเลย เราก็เลยเริ่มคิดวางแผนว่าจะทำยังไงให้ตายเร็ว ก็เลยเริ่มศึกษา เริ่มมีกระบวนการการคิดเป็นความอยากตาย แล้วมองหาวิธีว่าจะตายยังไงดี กระโดดน้ำล่ะ ผูกคอตายล่ะ เราเหมือนเป็นคนที่พึ่งตัวเองได้ เหมือนเราอยู่ได้ แต่ข้างในเราไม่ได้เต็มขนาดนั้น เราขาดอะไรไป ก็ไม่รู้ว่าขาดอะไร เราขาดการอยากมีชีวิต เราไม่รู้ว่าเราจะสำเร็จไปทำไม รู้สึกว่าโลกไม่มีเราก็ได้”
และเธอยอมรับว่าไม่มีเพื่อนสนิทเลย “เราไม่มีเพื่อนสนิทนะ ทำหายไประหว่างทางบ่อยมาก คุยกันทุกวันแล้วอยู่ๆ วันหนึ่งก็ลืมไม่โทรไปหาเขาแล้ว หรือถ้าทำธุรกิจด้วยกัน แล้วไม่โอเค เราก็พร้อมจะไฝว้” สิ่งเดียวที่ทำให้เธอได้ปล่อยพลังออกไปที่สุดก็คือการทำงาน และสิ่งที่เยียวยาเธอได้คือการเดินทาง และเธอเลือกที่จะไปที่ซ้ำๆ กันทุกปี
เธอเองก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหายดี แต่ที่แน่ๆ เธอไม่อยากให้ใครเป็นแบบเธอเลย “ไม่เชื่อว่าโรคนี้มันหายได้ แต่แค่อยู่กับมันเป็น ซัฟเฟอร์น้อยลง แล้วเวลาดาวน์น้อยลงก็เก่งแล้ว ไม่อยากให้ใครเป็นเลยนะ ถ้าเป็นก็ต้องหาทางซ่อมตัวเองด้วยตัวเขาเองเลยล่ะ” เธอแนะนำคนที่อยู่ใกล้ชิดคนที่เป็นแบบเธอเอาไว้ด้วยว่า “คุณไปซ่อมใจใครไม่ได้หรอก ถ้าเจอใครที่เป็นแบบนี้อย่าพยายามบอกเขาให้หาย เชียร์อัพเขายังไงก็ไม่หายหรอก สิ่งที่ทำได้คืออยู่ใกล้ๆ เขา ถ้าเขาลงไปในหลุมดำ ก็ยืนรอเขาที่ปากหลุม เพราะถ้าไปพยายามช่วยเขา คุณจะเหนื่อย แล้วคุณจะทิ้งเขาไป”
และสิ่งที่เธออยากฝากไว้สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็คือ “อย่ากลัวที่จะไปหาหมอ อย่าคิดว่าโรคนี้จะหายได้เอง ยาช่วยได้ส่วนหนึ่ง ถ้าหมอบอกกินเท่าไหร่ ก็ให้กินเท่านั้น อย่าเลิกกินยาโดยที่หมอไม่ได้สั่ง ถ้ากินแรกๆ แล้วรู้สึกว่าดีขึ้นมาก แล้วหยุดนั่นคือผิด ต้องกินต่อไป เพราะมันรักษาระดับในระยะยาว แล้วมันต้องปรับยาไปตลอด” เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่เธออยากให้ทำก็คือ “พยายามหาอะไรที่เป็นรูทีนให้ตัวเองทำ เอาแบบไม่ต้องใช้สมองนะ แล้วก็ให้หาต้นแบบในการใช้ชีวิต แล้วศึกษาวิธีใช้ชีวิต วิธีคิดของเขา ตอนอยู่ในหลุมกับตัวเอง ก็ต้องพยายามตัดอารมณ์ขึ้นมานะ”
เธอรักษาตัวเองโดยไปหาจิตแพทย์ กินยา ทำงาน ว่ายน้ำ วิ่ง หาอะไรโฟกัสให้ตัวเองตลอด และไม่ต้องคิดอะไรมาก “หนูว่ายน้ำรวดเดียวสองพันเมตร ว่าแบบเราจะได้ไม่ต้องคิดอะไรเลย มันเลยกลายเป็นสิ่งยึดเหนื่ยวเรา ว่าเราต้องทำทุกวัน” เคล็ดลับของคนเป็นซึมเศร้าของเธอก็คือ “ให้ตั้งเป้าหมายสั้นๆ ไม่ต้องคิดยาว แล้วเราจะมีกำลังใจว่าเราทำได้นี่นา” และอีกหนึ่งประโยคที่เธอบอกว่า
“ยอมรับด้วยว่าเรากำลังเป็นโรคนี้ และเรากำลังพยายามจะให้ตัวเราหายด้วยนะ”
คลีโอขอขอบคุณเรื่องราวจริงจากเพื่อนคนนี้ และขอให้เรื่องราวของเธอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะ