ถ้าเดินผ่านขึ้นไป ที่ชั้น 4 ไอคอนสยาม ตรงบริเวณเวิ้งด้านหน้า เราคงจะได้กลิ่นหอมของกาแฟอบอวลลอยมาตีจมูก หนึ่งในเวิ้งนั้นมี siam drip co ร้านของ “ภา” ตั้งอยู่ตรงนั้น ร้านของเธอเกิดขึ้นมาจากแพชชั่น ความชอบ และความหลงใหล้วนๆ มาพร้อมกับความตั้งใจที่อยากชูฝีมือของคนไทยในการผลิตอุปกรณ์ทำกาแฟ และเมล็ดกาแฟของไทยให้คนไทยด้วยกันเองได้เห็น รวมไปถึงสายตาของชาวต่างชาติ ว่ากาแฟไทยนั้นมีดี
ที่บอกว่าเกิดจากความชอบแพชชั่น เพราะมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ถ้าย้อนกลับไปก่อนจะเริ่มสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา ภาเป็นคนชอบดื่มกาแฟมาตั้งแต่สมัยเรียน สมัยเรียนที่ว่านี้คือตั้งแต่เธออยู่ประถม ภาดื่มกาแฟมาตั้งแต่ตอนนั้น ด้วยความที่เมื่อก่อนไม่ค่อยมีกาแฟสดที่หาง่ายเหมือนทุกวันนี้ เลยอาจจะยากหน่อยในการหากาแฟดีๆ ดื่ม พอเธอเริ่มเรียนมหา’ลัย ก็มีร้านกาแฟสดมากขึ้น เธอหลงรักและชื่นชอบรสชาติของกาแฟสด และดื่มทุกวัน รวมกับการเรียนสถาปัตย์ของเธอที่ไม่ต้องอธิบายเยอะมากก็น่าจะพอรู้ว่างานหนักและหาเวลานอนยาก ทำให้ภาติดกาแฟแบบไม่รู้ตัว พอเธอเรียนจบ จากที่กินกาแฟสดตามร้าน เธอก็เริ่มลองทำกาแฟกินเอง ฝึกใช้อุปกรณ์ทำกาแฟเอง ลองผิดลองถูก และทำกาแฟสดให้ตัวเองดื่มมาเสมอ
พอเราจบเป็นนักออกแบบแล้ว เราเลยรู้สึกว่า ทำไมมันไม่ค่อยมีอุปกรณ์ทำกาแฟของคนไทย เราเลยเริ่มออกแบบที่ดริปกาแฟของตัวเอง
ปัญหาเกิดจากเวลาที่เราใช้ที่ดริปกาแฟแล้วมันชอบแตกง่าย
“เรามีที่ดริปกาแฟหลายตัวมากเลย แต่ทุกครั้งที่เราเอามาใช้งาน มันก็จะชำรุดง่าย แตกง่าย พกพาก็ยาก เราเลยอยากแก้ปัญหาตรงนี้ที่เราเจอ เลยดีไซน์ที่ดริปที่เป็นสแตนเลสพกพาง่าย เลยเป็นจุดเริ่มต้น”
หลังจากได้ออกแบบและทำที่ดริปกาแฟ ภาเลยเริ่มเข้าสู่เส้นทางกาแฟมากขึ้น เธอเริ่มหาเมล็ดกาแฟของคนไทยจากภาคเหนือเพื่อส่งต่อเมล็ดกาแฟดีๆ จากคนไทยให้คนได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ภาเล่าให้เราฟังว่า เธอกินกาแฟมาหลายที่แล้วเวลาไปเที่ยวทั้งของต่างประเทศและของไทย เธออยากนำเสนอเมล็ดกาแฟไทยคู่กับแบรนด์เรา อยากส่งเสริมภาพลักษณ์คนไทย ส่งเสริมเมล็ดกาแฟไทย ภาเริ่มตระเวนเที่ยวและเดินทางหลายๆ ที่ โดยเฉพาะตามดอยและสถานที่ต่างๆ บริเวณภาคเหนือ เพื่อหาเมล็ดกาแฟไทยที่แปลกใหม่และน่าสนใจกลับมา “เราเคยมีโอกาสไปช่วยชาวบ้านที่เชียงราย ช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ เราเลยไปเห็นเมล็กาแฟ เลยเริ่มสนใจ มันมีกระบวนการหลากหลายมากกว่ากาแฟปกติธรรมดา”
“กาแฟมันมีอะไรมากกว่าที่เราคิด”
ภาเริ่มหลงใหลในกาแฟและการทำกาแฟมากขึ้น เธออยากเรียนรู้เกี่ยวกับเมล็ดกาแฟให้ลึกกว่าเดิม เธอเริ่มศึกษา ดูรายะเอียดไปเรื่อยๆ จนทำให้เธอเข้าใจกระบวนการของเมล็ดกาแฟมันก็ทำให้เกิดรสชาติกาแฟที่แตกต่าง ผสมกับที่ดริปเปอร์ที่เธอเคยออกแบบและทำไว้ เธอเลยอยากให้ดริปเปอร์ของเธอใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ประกอบกับที่อยากให้คนไทยได้เห็นฝีมือการทำเครื่องมือจากฝีมือคนไทยด้วยกันเอง รวมไปถึงเมล็ดกาแฟไทยที่เธออยากส่งต่อให้คนได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่เธอได้พื้นที่ ICON CRAFT ชั้น 4 ที่ไอค่อนสยามพอดี ต่างชาติก็ชอบมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็ได้วางขายตามป็อปอัพต่างๆ loft ไปออกอีเวนต์ พยายามให้ลูกค้าเห็นว่าเมล็ดกาแฟไทยมันมีมากกว่านั้น
เราอินกับการออกแบบที่ดริปกาแฟมาก เพราะเราเป็นใช้งานจริง เราก็อยากตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เราเคยเจอว่าดริปกาแฟมาก่อน บวกกับเราเป็นคนที่ดื่มกาแฟ เราก็ไม่อยากจำเจ อยากกินกาแฟให้มีรสชาติต่างๆ ที่หลากหลาย เราเลยสนใจมาก”
การใช้งานที่ผสมผสานกับดีไซน์
ภาออกแบบ ลองผิดลองถูกมา 1 ปี จนได้ออกมาเป็นที่ดริปสแตนเลส จากนั้นก็ไปคุยกับงานช่างเพื่อดูเรื่องวัสดุและการทำจริง ตอนนั้นที่เราคุยกับช่าง ก็ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักว่าดริปกาแฟคืออะไร จนวันนี้บางคนก็ยังไม่รู้จักว่ากาแฟดริปคือกาแฟอะไร เราชอบกระบวนการทำกาแฟตรงนี้ที่มันไม่ใช่แค่เครื่อง มันเหมือนงานคราฟต์อย่างหนึ่ง
สามารถใช้เป็นของแต่งบ้านได้เลย เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากโครงสร้างสถาปัตยกรรม สแตนเลสจะมีโค้งด้านในโค้งออกมา ซึ่งเวลาที่เราเอามือไปจับก็จะไม่โดนความร้อน
“มันเหมือนได้ออกแบบมาตั้งไว้ที่บ้านเพิ่มอีก 1 ชิ้น” นี่คือจุดเด่นของดริปเปอร์ของภาที่เธออกแบบ แน่นอนว่าเธอเป็นนักออกแบบ ทุกอย่างผ่านการคิดมาแล้วว่าจะผลิตมาเพื่ออะไร และเพื่อใคร ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้งาน แต่ดีไซน์ก็ต้องสวย เรียบง่าย ข้อดีคือทำความสะอาดง่าย ทนทาน พกพาง่าย ภาเล่าให้ฟังต่อว่า “ตอนที่เราเรียน เวลาที่จะออกแบบอะไรเราก็ต้องคำนึงว่า เราทำเพื่ออะไร ทำให้ใคร ข้อดีคือเราทำมาเพื่อใช้งานเอง เรารู้ว่าก่อนหน้าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และเราก็ออกแบบเพื่อแก้ปัญหาตรงนั้น โดยใช้ดีไซน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รู้ว่าต้องใช้วัสดุแบบไหนถึงจะดี ได้ทั้งการใช้งานและความสวยงาม”
เอกลักษณ์ของเมล็ดกาแฟไทยที่รอให้ทุกคนมาค้นพบ
นอกจากนี้ siam drip co ก็ยังได้ร่วมทำเป็นโปรเจ็กต์ร่วมกับคนตาบอด โดยให้คนตาบอดช่วยคิด taste note คิดคาแร็กเตอร์ของเมล็ดกาแฟจากรสชาติและกลิ่นได้ลิ้มรสและสัมผัส ลองจินตนาการว่าเมื่อเราดื่มกาแฟเข้าไป แล้วเรารู้สึกอย่างไร เราเห็นภาพอะไรเมื่อกินกาแฟที่แตกต่างกัน
ได้ออกมาทั้งหมด 5 เมล็ดตามคาแร็กเตอร์หรือรสชาติที่แตกต่างกันไป ได้แก่ คุณหมอ สาวน้อย หญิงหม้าย นักกล้าม และคุณครู
คุณหมอ – แม่บู่หย่า เชียงราย
“คุณหมอมีความใจดี” รสชาติก็จะบางเบา ละมุน ดื่มง่าย Flavour Note: Orange, Raisin, Green Apple, Juice & Bright Acid, Clean & Light Body
สาวน้อย – แม่บู่หย่า เชียงราย
“ฉันคือสาวเจ้าระเบียบ ใส่ใจทุกรายละเอียด” Flavour Note: Orange / Raisin / Sweet Prune , Juice & Bright Acid / Medium Body
หญิงหม้าย – แม่บู่หย่า เชียงราย
“ฉันคือหญิงหม้าย ที่เรียนรู้จากรักที่ไม่สมหวัง” Flavour Note: Orange Cracker, Caramel, Medium Body
นักกล้าม – ดอยสามหมื่น เชียงใหม่
“นักกล้ามอย่างฉัน พยายามอย่างหนักเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดี” Flavour Note: Almond / Sweet Peanut / Round Body
คุณครู – แม่บู่หย่า เชียงราย
“คุณครูแสนดุ” Flavour Note: Dark Choc with Slightly Orange Caramel, Medium – High Body
อยากให้คนเห็นศักยภาพของเมล็ดกาแฟไทย
อีกหนึ่งความตั้งใจหลักที่ภาอยากทำให้สำเร็จ นั่นก็คือการนำเสนอความแปลกใหม่และความน่าสนใจที่เป็นเอกลักษณ์ของเมล็ดกาแฟไทยบ้านเราให้คนไทยด้วยกันได้เห็น ยอมรับ และเปิดใจกับเมล็ดกาแฟไทยมากขึ้น
เราอยากให้คนไทยสนับสนุนเมล็ดกาแฟไทย เพราะเมืองไทยเรามีเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพและสามารถส่งออกได้แล้ว มีคาแร็กเตอร์เฉพาะตัว เทียบเท่าเมืองนอกได้เลย
ตอนนี้หน้าร้านของภาที่ไอคอนสยามมีเมล็ดกาแฟไทยวางขายด้วยเช่นกัน แต่ละแบบก็จะมีกลิ่นและรสที่ต่างกันไป เช่น ลิ้นจี่ ทุเรียน หรือเสาวรส
ส่วนเมนูของที่ร้านภาก็เป็นคิดเองทุกอย่าง เธอตั้งใจดึงรสกาแฟออกมาผ่านเมนูใหม่ๆ ที่ไม่จำเจ เพื่ออยากให้คนเข้ามาลิ้มลองกาแฟไทยมากขึ้น นอกจากเมนูกาแฟ ก็ยังมีเมนูค็อกเทล และ non-coffee ด้วยนะ
“เวลาที่เราทำกาแฟกินเองก็เหมือนเป็นการพักผ่อนให้ตัวเองเหมือนกัน เปิดเพลง ดิ่มกาแฟ แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว”
ใครที่อยากมาชิมกาแฟ พูดคุยเรื่องกาแฟ ก็มาได้เลยนะ ที่ siam drip co ICON CRAFT ชั้น 4 ICONSIAM ได้เลยนะ
ติดตามร้านของภาได้ ที่นี่