เรื่องราวของแอร์โฮสเตสสาวที่เสียสละและกล้าหาญที่สุด เธอได้ปกป้องผู้โดยสารจากเหตุการณ์จี้เครื่องบิน Pan Am Flight 73 จนวินาทีสุดท้ายก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลง ภายหลังจากการเสียชีวิต เธอได้รับรางวัล Ashoka Chakra Award สำหรับความกล้าหาญในอินเดีย ซึ่งเธอกลายเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดและเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ นอกจากนี้ยังมีการนำเรื่องราวของเธอไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Neerja อีกด้วย
ครั้งนึงเธอเคยถามแม่ของเธอว่า “ถ้าเกิดเหตุการณ์ hijack ขึ้นจะทำยังไงดีคะ” แม่ของเธอตอบว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นให้รีบหนีไป ซึ่ง Neerja เธอก็รีบสวนกลับแม่ทันทีว่า “ถ้าทุกคนคิดแบบนี้แล้วประเทศจะเป็นยังไง หนูยอมตายดีกว่าวิ่งหนี” และไม่มีใครคาดคิดว่าบทสนทนาของเธอกับแม่ในวันนั้นจะกลายเป็นเรื่องจริง
Who is Neerja Bhanot?
Neerja เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2506 ในเมือง Chandigarh ประเทศอินเดีย เธอเป็นที่รักของครอบครัว และได้เริ่มทำงานเป็นนางแบบตั้งแต่อายุ 16 ปี ต่อมาเมื่ออายุได้ 21 ปี เธอแต่งงานกับวิศวกรทางทะเลและย้ายไปอยู่ที่ชาร์จาห์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ชีวิตหลังแต่งงานก็ไม่ได้ราบรื่น หลังจากสองเดือนที่เธอถูกสามีทารุณกรรม คุกคามต่างๆ เธอก็ได้แยกทางกับสามีแล้วย้ายกลับไปที่มุมไบและตัดสินใจไปสมัครงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งสายการบินที่เธอสมัครคือ Pan American World Airways
Neerja ผ่านการคัดเลือกและได้ทำงานกับสายการบินนี้ หลังจากที่ทำงานได้สักระยะ เธอก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
เวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1986 เธอได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเที่ยวบินที่ 73 หรือ Pan Am 73 ซึ่งบินจากมุมไบ ประเทศอินเดีย ไปยังสหรัฐอเมริกา โดยในเที่ยวบินนี้จะมีการแวะพักเครื่องที่ Karachi ประเทศปากีสถานด้วย ระหว่างการแวะพักที่เมืองการาจี จู่ๆ ก็มีชายชาวปาเลสไตน์ติดอาวุธ 4 คน ซึ่งเป็นขององค์การ Abu Nidal ได้บุกขึ้นมาแล้วจี้เครื่องบิน โดยเป้าหมายของพวกเขาคือ กดดันให้ทางการปล่อยตัวนักโทษในกลุ่มของพวกเขานั่นเอง นอกจากนี้พวกเขาจะเปลี่ยนเส้นทางบินไปยัง Cyprus ด้วย
เมื่อ Neerja รู้ว่าเกิดการจี้ขึ้น เธอก็ได้ทำการส่งต่อรหัสการถูกจี้ไปยังห้องบังคับการบิน ทำให้ตัวกัปตัน ผู้ช่วยกัปตัน วิศวกร หนีออกมาได้ทัน แต่เมื่อพวกคนร้ายรู้ พวกเขาก็จับตัวประกันมาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ด้านล่าง ซึ่งตัวประกันคือชายชาวอเมริกัน อินเดียน แต่สุดท้ายเมื่อการต่อรองไม่เป็นผลทำให้กลุ่มคนร้ายได้ยิงไปที่ชายดังกล่าว และโยนเขาออกจากเครื่องบิน
หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด Neerja ได้พยายามบอกลูกเรือคนอื่นๆ รวมไปถึงผู้โดยสารให้ควบคุมสติ ไม่ให้ตกอยู่กับวิตกกังวลจนเกินไป เธอและลูกเรือคนอื่นๆ ยังคงปฏิบัติหน้าที่แจกน้ำและขนมให้กับผู้โดยสาร
ต่อมา พวกผู้ก่อการร้ายได้สั่งให้พนักงานบนเครื่องเก็บ Passport ของผู้โดยสารทุกคน เพราะพวกเขาอยากรู้ว่าใครบ้างที่มีสัญชาติอเมริกัน ตอนนั้น Neerja กลัวว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีกับผู้โดยสาร เธอจึงซ่อนหนังสือเดินทางเหล่านั้นไว้ใต้ที่นั่งและในถังขยะ เมื่อกลุ่มคนร้ายเห็นว่าไม่มีใครสัญชาติอเมริกันเลย พวกเขาจึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นชาวอังกฤษแทน โดยจับ 1 คนเป็นตัวประกันเพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่ให้ส่งนักบินขึ้นเครื่องมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำตามคำขอของพวกเขาได้ ครั้งนี้กลุ่มคนร้ายไม่ได้ทำร้ายตัวประกันแต่อย่างใด และปล่อยเขากลับที่นั่ง
เวลาล่วงเลยไปจนถึงตอนค่ำ ผู้โดยสารทุกคนเริ่มกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากกลุ่มคนร้ายสั่งให้ทุกคนนั่งชิดกันและตัดสินใจจะทำการระเบิดเครื่องบินและคร่าชีวิตทุกคนบนเครื่อง แต่ด้วยความที่ขณะนั้นค่อนข้างมืด ทำให้การติดตั้งระเบิดผิดพลาด แต่นี่ก็ทำให้ผู้โดยสารแตกตื่นวิ่งหนีกัน ในขณะนั้นกลุ่มคนร้ายจึงเลือกยิงสาดกระสุนใส่ผู้คน ท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายนี้ Neerja เธอได้หาจังหวะไปเปิดประตูฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้โดยสารได้หลบหนี ทำให้ผู้โดยสารสามารถหนีออกไปได้บางส่วน ความจริงเธอก็สามารถหนีไปได้เช่นกันแต่เธอเลือกที่จะปฏิบัติหน้าที่และมั่นใจว่าผู้โดยสารของเธอปลอดภัย และในตอนนั้นเองที่เธอเห็นว่ามีผู้โดยสารเป็นเด็ก 3 คน กำลังจะโดนยิง เธอได้รีบพุ่งตัวไปโอบเด็กทั้ง 3 ไว้และรับกระสุนแทน ซึ่งทำให้เด็กๆ ทั้งหมดรอดชีวิต แต่กลับกัน Neerja เธอเสียชีวิต
ไม่นานก็มีหน่วยคอมมานโดบุกเข้ามา และในที่สุดก็สามารถจับกุมคนร้ายทั้ง 4 คนได้สำเร็จ โดยพวกเขาถูกตัดสินโทษประหารชีวิต แต่ในเวลาต่อมาก็ถูกเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต
ในปี 2016 เรื่องราวของเธอได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ Neerja เพื่อระลึกถึงเธออีกด้วย
อ่านเรื่องราวอื่นๆ ที่