ถ้าคุณคือคอซีรี่ส์เกาหลีมาตั้งแต่ Autumn in my heart หรือเก่ากว่านั้นไปอีกก็คงจะคุ้นเคยกับซีรี่ส์แนวดราม่าที่โฟกัสแก่นของความรักหนักๆ ไม่ร้องไห้จนตาบวมไปห้าวันเจ็ดวัน ก็ต้องน่ารักกุ๊กกิ๊กแบบฟินจิกหมอน
แล้วพอได้ยินที่เหล่าเพื่อนฝูงคนเกาหลีชอบมาเฉลยให้ฟังว่า หนุ่มเกาเขาไม่ได้ชวนฝันอย่างนั้นไปซะหมดหรอก ส่วนใหญ่คนละเรื่องเลย มันเหมือนดับฝันกันหน่อยๆ ซึ่งก็เชื่อว่ามันอาจจะจริงครึ่งไม่จริงครึ่ง เพราะชายไทยก็ไม่ได้เหมือนกับในละคร เราเข้าใจได้
“ที่เกาหลีใต้ เราจะมีเทรนด์ในการทำหนังหรือซีรี่ส์ มันเป็นส่วนหนึ่งของการลีดสังคม” เพื่อนชาวเกาหลีคนหนึ่งเล่าให้เราฟัง ว่าสังเกตว่าเทรนด์ของซีรี่ส์ช่วงใกล้ๆ กันมันจะมาในแนวเดียวกัน ยี่สิบปีก่อนต้องรักมั่นคง รักฝังใจ รักไม่เปลี่ยนแปลง ปฏิบัติต่ออีกฝ่ายอย่างอ่อนโยน ดูแล ใส่ใจ เพื่อให้ภาพลักษณ์ของชายเกาหลีดูอบอุ่น ส่วนฝ่ายหญิงก็น่าทะนุถนอม แต่เธอก็ใจแกร่ง
หิมะและรักที่สมหวัง
และที่ได้เห็นในเกือบทุกเรื่องเลยคือ พวกเขาให้ความสำคัญกับ ‘หิมะแรก’ มาก อย่างใน Reply 1988 ที่ด็อกซอนบอกให้ซอนอูสารภาพรักกับคนที่เขาแอบรักในวันที่หิมะตกเป็นวันแรก ก็เพราะ..
คนเกาหลีเขาเชื่อว่าถ้ามีคนถามว่า “เห็นหิมะแรกไหม” นั่นคือเขากำลังบอกรักเป็นนัยๆ และถ้าเรารักเขาเหมือนกันก็ตอบไปเลยว่า “เห็นสิ”
มันเลยเป็นเรื่องที่โรแมนติกมากๆ หากได้เห็นหิมะแรกพร้อมกันกับคนที่เราแอบชอบอยู่ ซึ่งมันก็มักจะเกิดขึ้นในซีนของพระรองเสมอ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน
อาชีพที่หลากหลาย ไม่ใช่สายธุรกิจอย่างเดียว
จะขอเปรียบเทียบกับฝั่งบ้านเราก็แล้วกัน ส่วนใหญ่พระเอกในละครไทยถ้าไม่ใช่ครอบครัวนักธุรกิจ (ที่ไม่รู้วันๆ ทำอะไร) ก็นึกไม่ออกแล้วว่าจะให้มีอาชีพอะไรดี แต่เราจะเห็นได้ว่าในซีรี่ส์เกาหลีมีอาชีพที่หลากหลาย และยังมีเส้นเรื่องที่ใช้สายอาชีพนั้นดำเนินไปอย่างให้ความรู้
อย่างเช่น เหล่าคุณหมอใน Hospital Playlist ที่ตอนนี้เนื้อเรื่องยาวจนถึงสองซีซั่น นอกจากความสนุกและเส้นเรื่องความสัมพันธ์ของเหล่าคนร่วมอาชีพในโรงพยาบาลแล้ว ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่แต่ละคนมีความถนัด เคสที่ต่างกันไป ทั้งโอกาสในการรอดชีวิตที่มีตัวแปรมากมายเป็นตัวชี้
เปิดให้คนทั่วไปอย่างเราที่ปกติแล้วเป็นได้แค่คนไข้ ทำความเข้าใจความรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น
ทนายหนุ่มสาวไฟแรงจาก Vincenzo แม้จะมีความเป็นมาเฟียผสมอยู่ แต่วินเชนโซก็เปิดโลกความอยุติธรรมในวงการยุติธรรมในบ้านเกาหลีใต้ให้โลกได้เห็นอย่างเปิดเผย เรื่องนี้เส้นเรื่องของความสัมพันธ์ไม่ชัดเท่าปมความแค้นและการต่อสู้ที่ใช้กฎหมายเข้ามามีส่วนอย่างมาก(แต่ไม่ทั้งหมด) ที่เปิดโลกของคนที่อาจยังไม่เคยได้แตะโลกนี้มากเท่าไหร่ จะเห็นได้เลยว่าความพลิกแพลงของข้อกฎหมายที่ใครใช้เป็นก็ได้จะเป็นฝ่ายได้เปรียบไป
และอย่างที่เห็นในชีวิตจริงคือ กฎหมายของเกาหลีใต้เอาจริงมากในทุกด้าน ยิ่งคนมีอำนาจทำผิดยิ่งถูกกดดันให้ถูกลงโทษหนัก หรือแม้แต่คนมีชื่อเสียงหากพลาดเล็กน้อยครั้งเดียวอาจหมายถึงดับฝันอนาคตในวงการนั้นไปเลย
แต่ความจริงแล้วยังมีซีรี่ส์เกี่ยวกับนักธุรกิจอีกไม่น้อยที่น่าสนใจและให้ความรู้คนทั่วไปได้อย่างมาก เช่น Itaewon Class เรื่องราวความอับโชคของเด็กหนุ่มที่เสียพ่อไปและติดคุกช่วงวัยรุ่น แต่ด้วยความรักดีผสมแค้น เขาทำทุกอย่างเพื่อจะสร้างตัว มีเป้าหมายที่จะโค่นล้มเจ้าพ่อแห่งวงการธุรกิจอาหารผู้เป็นศัตรู(และเป็นครูไปพร้อมกัน) การสร้างธุรกิจแบบของเขา ที่รู้ว่าจะต้องเสียอะไรไปเพื่อรักษาอะไร ทำให้ซีรี่ส์เรื่องนี้โดดเด่นมากในช่วงหนึ่ง
อีกเรื่องของคนทำธุรกิจยุคใหม่ Start Up ที่บอกเล่าการเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมการสนับสนุนขององค์กรใหญ่ การให้ความรู้และแนวทางการหาเงินทุน ความเป็นไปได้ พร้อมกับปัญหามากมายที่จะเกิดขึ้น แต่ทุกทางวิธีแก้ไขในแบบที่ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ เพียงแค่เราต้องรู้จักตัวเองว่าถนัดอะไร นี่อาจเป็นสิ่งที่เหล่าซีรี่ส์พยายามจะปลูกฝังคนในชาติให้ได้คิด
ความรักยุคใหม่ในทศวรรษปัจจุบัน
กลับมาที่เรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ เราสังเกตว่าซีรี่ส์เกาหลีเลือกจะตีแผ่ปัญหาของความสัมพันธ์กันมากขึ้น อย่างใน Love (ft. Marriage & Divorce) เนื้อเรื่องที่เห็นบ่อยในละครไทยอยู่แล้วแนวนี้ เกาหลีใต้เลือกหยิบเอาคู่รัก 3 วัย ที่ต่างมีปัญหาในชีวิตคู่ เช่น เรื่องราวของชู้ที่ไม่คุ้นในซีรี่ส์เกาหลีเท่าไหร่ และการหย่าร้าง
และล่าสุดยังออนแอร์ไม่ครบตอนเลยก็คือ Nevertheless ที่ตัวละครวัยมหาวิทยาลัยมองความสัมพันธ์ในแบบไม่จริงจังนัก(ขอยังไม่พูดถึงว่าเพราะอะไร เพราะก็ยังไม่รู้เหมือนกัน) แต่ดูเหมือนจะเป็นการสะท้อนว่าคนยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความรักที่มั่นคงน้อยลง ยึดติดน้อยลง ไม่ใช่ก็เลิก ไม่ถูกใจก็ไปต่อ และโอเคมากขึ้นกับความสัมพันธ์ที่ไม่จริงจัง
“ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความรักเลยนะ แต่ไม่ได้เจ็บปวดกับความรักที่ผิดหวังนาน”
เพื่อนชาวเกาหลีสรุปอย่างนั้น
ความจริงแล้วเทรนด์ของความรักปัจจุบันไม่ว่าจะที่เกาหลีใต้หรือที่ไทย หรือที่ไหนก็ตาม อาจเป็นเพราะชีวิตมีะไรให้โฟกัสมากกว่าความผิดหวังของความสัมพันธ์ มันเลยทำให้ถูกสะท้อนออกมาตามรูปแบบที่สังคมเป็นไป แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเปิดกว้าง ปล่อยฟรี ไม่มีกฎเกณฑ์ เพราะสุดท้ายเมื่อมีคนผิดกติกาที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อยู่ดี