ผู้หญิงที่ทำอะไรด้วยแพชชั่น เธอจะรู้ว่าสิ่งที่ทำซื่อตรงกับหัวใจ และคนที่เป็นอาร์ติสท์มักได้รับพรนี้ เหมือนกับอาร์ติสท์สาวคนนี้ @lafynagirl ณิชา ทวีเจริญสุข
“ก่อนจะคิดนอกกรอบ เราต้องมีกรอบ และการทำงานของเกิลคือการคิดให้ทะลุกรอบที่สร้างไว้ จากนั้นก็ทะลุไปอีกกรอบ คือถ้าไม่ตีกรอบไว้ก่อน เราก็จะไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นการมีกรอบคือจุดเริ่มต้นของการคิดนอกกรอบ สำหรับเกิล”
และนี่คือสิ่งที่ เกิล-ณิชา ทวีเจริญสุข @lafynagirl ศิลปินสาว ที่สื่อสารตัวตนของเธอผ่านงานศิลปะ และปัจจุบัน เรียกได้ว่าผลงานของเธอ ในฐานะนักวาดภาพประกอบ ไม่ได้มีกรอบของงานอยู่แค่ในหน้าหนังสือ หรือประกอบงานเขียน งานสิ่งพิมพ์เพียงเท่านั้นอีกต่อไป เพราะเมื่อเธอค้นพบความชัดเจนที่ต้องการสื่อสารผ่านการวาดภาพใน “สไตล์” และ “ตัวตน” ออกมาอย่างแตกต่างจากณิชาคนเดิมที่เริ่มต้นกรุยทางงานศิลปะด้วยตัวเองมาตลอด วันนี้งานของเธอยังปรากฏทั้งบนเวทีคอนเสิร์ต ห้างสรรพสินค้า เสื้อผ้าแบรนด์เนมต่างๆ มีงานนิทรรศการ งาน Art Collection และอื่นๆ อีกมากมาย
ที่เราจะบอกก็คือ…ถ้าใครหลงใหล และต้องการพาตัวเองก้าวต่อไปบนทางสายศิลปะ หากคุณมีแพสชั่นที่มากพอ มีประสบการณ์ดิ่งลึกจนตกผลึกและสามารถดึงสิ่งใช่ สีที่ชอบ และทะลุกรอบที่วางไว้ของตัวเองออกมาได้ เมื่อนั้นเส้นทางสายนี้ก็จะเปิดรับและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่หลงใหลได้ต่อๆ ไป
และนี่คือเรื่องราวของศิลปินสาว ที่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ เธอก็มีบททดสอบ มีจุดเปลี่ยน มีการเดินทาง และค้นหาสิ่งที่ใช่สำหรับเธอในวันที่เธอสามารถพูดได้ว่า
“ถ้าเรามีแนวทางที่ชัด สักวันหนึ่งงานที่ใช่ก็จะมาหาเราเอง และเราก็แค่ใช้ชีวิตอย่างที่เราเป็นได้โดยไม่ต้องฝืน”
ศิลปินสาว ผู้พร้อมจะก้าวไปในทุกเส้นทางแห่งศิลปะ
เกิล-ณิชา ทวีเจริญสุข ศิลปินสาวที่โตมากับคุณยายที่ชอบวาดรูป เลยสอนให้หลานตัวเล็ก ที่กลับจากโรงเรียนมาวาดรูปด้วย เธอจึงชอบขีดเขียนวาดภาพระบายสีมาตั้งแต่เด็ก
จากเด็กหญิงที่ไม่ชอบพูดคุยสื่อสารสุงสิงกับใครเท่าไรนัก ณิชาสื่อสารกับงานศิลปะของเธอมาโดยตลอด จนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยเธอก็เลือกที่จะเรียนทางด้านการวาดรูป ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และโดยที่ยังไม่ทันเรียนจบ เธอก็สามารถหารายได้พิเศษจากผลงานการวาดภาพของเธอ และสักพักโดยที่เธอยังไม่ทันเรียนจบเธอก็ดรอปการเรียนไปหนึ่งปี เพื่อไปค้นหาคำตอบว่าจริงๆ แล้วเธอมีความสามารถมากพอในสายงานอาชีพนี้หรือไม่ และจากคำตอบที่ได้…ใช่ เธอมั่นใจว่าเธอจะไปต่อในเส้นทางที่ชีวิตนำพาเธอมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กอนุบาล จนถึงทุกวันนี้
การออกเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 2 เดือน การได้เข้าไปชมงานศิลปะของศิลปินต่างชาติตามแกลเลอรี่ต่างๆ การได้เปิดโลก การเปิดใจ และการได้ใช้ชีวิตที่ก้าวออกจากกรอบ คือการค้นหาตัวตนที่ทำให้เธอชัดเจนมากขึ้นกับตัวเอง และชัดเจนมากขึ้นที่จะเปลี่ยนแนวทางการลงสีที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งเธอบอกว่า “สิ่งสำคัญคือ ก่อนจะออกจากกรอบ ที่มีคนชอบบอกว่าเราต้องคิดนอกกรอบ เกิลว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้นเราต้องสร้างกรอบของเราขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นเราถึงจะก้าวจากกรอบ แล้วทะลุกรอบออกไปได้ ซึ่งสำหรับเกิลตอนนี้ เกิลสนุกกับการสร้างกรอบ แล้วก็ก้าวทะลุกรอบนี้เพื่อไปเจอกรอบใหม่แล้วก็ทะลุออกไปอีก นี่คือแนวทางที่เกิลใช้กับการทำงานตัวเอง”
นั่นจึงทำให้หลังจากดรอปการเรียนไปหนึ่งปี พอกลับมาภาพบนเฟรมผ้าใบที่เคยมีแต่สีพาสเทล อ่อนหวาน หรือภาพพอร์เทรตสีเอิร์ธโทน ค่อยๆ เลือนหายไป ผลงานของณิชาในเวอร์ชั่นที่ได้รับการกะเทาะตัวตนคนเก่าออกไปกลายเป็น ภาพที่มีสีโทนร้อนการใช้สีเข้มๆ และแนวการวาดยังเปลี่ยนมาเป็นดาร์คแฟนตาซี มีกลิ่นอายนิยายกอร์ธิคอบอวล ทั้งหมดมาจากสิ่งที่เธอชื่นชอบ ที่หลอมรวมอยู่ในตัวตน หากบางครั้ง…“เราก็ต้องยอมกระเทาะเปลือกบางอย่างออกไปก่อน ถึงจะพบตัวตนของเราอีกแบบ ที่เราเองก็ไม่รู้มาก่อน และตัวตนนี้แหละที่อาจเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา แบบที่เราเป็น ไม่ใช่แบบที่คนอื่นอยากให้เราเป็น”
“เพราะศิลปะไม่เคยโกหก ศิลปะจะเชื่อมโยงตัวเราเองกับโลกภายนอก ช่วงไหนที่เราเปลี่ยนไป งานก็เปลี่ยน แต่ก็ปกติของศิลปินทุกคนจะมีโมเม้นนี้ ถึงงานจะเปลี่ยน แต่ในชิ้นงานจะมีกลิ่นอายเหมือนเดิม ถ้าเรารู้จักใคร เห็นลงานปุ๊บจะรู้เลยว่านี่คืองานใคร ถึงเขาจะมีวิธีการต่างออกไปจากที่เคยทำ”
“ศิลปะคือการเชื่อมต่อ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุด แต่เราต้องรู้จักตัวเอง ต้องรู้ว่าเราต้องการอะไร และจะไปให้ถึงตรงไหน”
ผลงานจะพาเราไป
ก่อนจะมาถึงจุดนี้ เกิล-ณิชา ผ่านมาแล้วทั้งช่วงเวลาค้นหาตัวเอง การหมดความมั่นใจ แม้จะมีผลงานที่เธอคิดว่าเธอทำดีแล้ว แต่อาจารย์กลับมองว่าไม่ดีพอจนเกือบทำให้เธอสอบไม่ผ่าน แต่หลังการเดินทางกลับจากอังกฤษ และใช้ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย 1 ปี การได้ไปฝึกงานที่นิตยสารคลีโอ ตัวตนที่เธอค้นหาเจอ ก็ปรากฏขึ้นบนผลงานที่สร้างขึ้นมาอีกครั้ง และน่าจะเรียกได้ว่า นอกจากความมั่นใจจะกลับมา ผลงานของเธอ ยังเข้าตาใครหลายคน จนทำให้เธอเองก็ไม่คาดคิดว่า จากคนวาดรูป ทำงานศิลปะ เป็นงานไฟน์อาร์ต หรือการวาดรูปลงสีด้วยมือของเธอเองแบบที่เธอชอบ ในวันนี้สามารถไปปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ ได้ ตั้งแต่ งานคอนเสิร์ต ตกแต่งภายในช้อป หรืองานออกแบบแพ็กเกจจิ้งต่างๆ
“เกิลอาจจะโชคดี วันหนึ่งได้คุยกับรุ่นพี่ที่ทำงานคอนเสิร์ต เขาเห็นงานแล้วคิดว่างานเกิลน่าจะทำเป็นวิชวลอาร์ตบนเวทีคอนเสิร์ตได้ งานเกิลเลยขยายวงกว้างออกไปอีก ไปอยุ่ในอุตสาหกรรมเพลง น่าจะเป็นเพราะการที่เราไม่ปิดตัวเอง เราสนุกกับการทำงานเบลนด์กับคนอื่น ขณะเดียวกันเรายังรักษาความเป็นตัวเองได้ ตอนนั้นก็เลยสนุกกับงานทุกอย่างที่เข้ามา ได้เอาภาพสีน้ำที่เราวาดไปเบลนด์เข้ากับงานในโปรแกรมดิจิทัล ซึ่งการทำอะไรหลายๆ อย่าง เกิลได้มาจากการเรียนในมหาวิทยาลัยในเรื่องของการจัดระบบความคิด พอระบบความคิดเราดี เราก็สามารถแตกออกไปสร้างสรรค์อะไรอย่างอื่นได้ต่อไปอีก”
“เกิลชอบใช้สีน้ำ เพราะมันทำให้เรารู้สึกแผ่วเบาในใจ” เหมือนเป็นกฎอย่างแรกที่เราจะรู้ว่าเราคือใคร ต้องการอะไร และทำสิ่งที่เราชอบและถนัดให้ได้ดี แต่อะไรที่เราไม่ถนัดไม่ต้องฝืนไปโฟกัส หรือปรับจุดด้อยให้ดีขึ้น นี่คือคำแนะนำของเกิล ที่เธอบอกว่ามีช่วงหนึ่งที่เผลอไปทำสิ่งที่ไม่ถนัด คือไปฝึกทำงานในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผลที่ได้คือแม้จะได้เรียนรู้เพิ่มเติมและทำได้บ้าง แต่ก็ทำให้พอกลับมาทำงานด้วยมือก็รู้สึกงานดรอปลงไปอยู่พักหนึ่งเลย
“เรารู้แล้วว่าเราเกิดมาเพื่อวาดรูป และเราทำได้ดี เราก็โฟกัสแค่สิ่งนี้ไป สำหรับเกิลนะ แต่คนอื่นอาจะทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ แต่สำหรับเกิลเลือกที่ทำจุดเด่นให้ดีไปเลย ส่วนพาร์ทอื่นๆ ที่ไม่ถนัดก็ให้คนอื่นมาช่วยทำ จากตอนแรกที่เกิลทำงานวาดรูปคนเดียว ตอนนี้เกิลมีผู้ช่วยสองคน ที่ช่วยทำในส่วนที่เราไม่ถนัด ให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์ขึ้น”
เติมพลังสร้างสรรค์ด้วยการออกเดินทาง
เวลาว่างและการเติมแรงบันดาลใจ ของหญิงสาวคนนี้ก็คือการเดินทาง อย่างที่เธอบอกก่อนจะคิดนอกกรอบได้เราต้องรู้จักกรอบของเราว่ามีขอบเขตแค่ไหน ก่อนจะระบายสีท้องฟ้าให้ออกมาสวยได้อย่างที่ต้องการก็ต้องออกไปสัมผัสท้องฟ้าจริงๆ ด้วยเช่นกัน
“เกิลชอบเดินทางมาก เคยขับรถไปทางภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แล้วรู้สึกชอบมาก ชอบวิวสองข้างทางที่เจอ ชอบสีของท้องฟ้าที่ไม่เหมือนท้องฟ้าในกรุงเทพ เป็นฟ้าที่สวยกว่ามาก การได้จับภาพตรงนั้นแล้วมาเชื่อมต่อกับข้างในตัวเราแล้วอินสปายออกมาเป็นงานต่างๆ ที่เราทำ มันสนุก และการได้ไปเจอคนอื่นๆ การได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ระหว่างทาง ที่ก็เหมือนการทำงาน ที่เกิลสนุกกับระหว่างการทำงาน มากว่าจุดหมายที่แท้จริงของงาน”
การเป็นคนที่ยิ้มรับกับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตได้แบบเกิลในตอนนี้ ที่เธอบอกว่า “ศิลปะสอนเกิล เรารู้ว่าเป็นคนมีเซลฟ์เอสตีมที่แข็งแรง เราจัดการความทุกข์ได้ดี เราบาลานซ์สิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ดี จากคนที่เคยปล่อยให้ใครก็ได้มาหยิบความรักจากฉัน ตอนนี้เกิลรู้แล้วว่า คนแบบไหนที่เราควรจะให้ หรือคนแบบไหน เราให้ได้แค่ไหน ไม่ใช่ใครก็ได้ ไม่ใช่ใครทุกคนแบบเมื่อก่อน เมื่อเรารักตัวเองเป็น เราก็จะรักคนอื่นเป็น และเราจะไม่เจ็บปวดจากความรัก ที่เราคิดว่าหยิบยื่นให้ใครแล้วเขาไม่รับ เพราะเราจะไม่ให้ความรักกับคนที่เขาไม่เห็นค่าความรักเราตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”
ยืดหยุ่นกับชีวิต ไม่ฟิกตัวเองมากไป และทำสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีและมีความสุข นี่คือศิลปะกับการใช้ชีวิตแบบของเกิล…ศิลปินสาวน้อยที่ยังมีอนาคตไกลและพร้อมระบายสีสันในชีวิตให้มีสีแบบที่เธอต้องการ…และคุณเองก็ทำได้เช่นกัน
ณิชายังกำลังสร้างแบรนด์ที่ชวนผู้หญิงทุกคนมาฟรี สปิริตไปด้วยกัน กับนก Feel It and Fly Away นก FiFy ร่วมกับพี่เอ๋ สุพิชา บอกอของคลีโออีกด้วย ติดตามงานน่ารักๆ ของเธอและพี่เอ๋กันได้ที่ @feelitandflyaway
อ่านเรื่องราวอื่นๆ ต่อได้ที่ บิวตี้ คลีนิกที่สร้างมาจากความอดทนของผู้หญิงคนนี้