ประสบการณ์จริงจากผู้ดูแลผู้ป่วย covid – 19 ที่ไม่มีเตียง ไม่ได้เข้าระบบ Home Isolation ไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ในที่สุด ภายในเวลาสองสัปดาห์กว่าๆ คนไข้ก็หายเป็นปกติ
แอนเป็นครูสอนโยคะ และเป็นนักจิตวิทยา เธอกับเบน แฟนผู้เคยเป็นผู้ป่วย covid-19 ทั้งคู่มั่นใจว่า เบนได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสในวันที่ออกไปจ่ายตลาด
วันที่รับเชื้อ
“วันที่ 25 มิถุนายน เราเจอเพื่อนบ้านในลิฟต์ของคอนโด แล้วเขาไม่ใส่มาสก์ แล้วเราก็ออกไปจ่ายตลาดที่แผงลอยริมถนน เชื้อไวรัสอาจจะมาจากการใช้ลิฟต์ หรือจากการไปจ่ายตลาด เราไม่รู้ว่ามาจากสาเหตุไหน แต่มั่นใจว่ามีแค่สองช่องทางนี้เท่านั้น”
ระยะฟักตัวจนถึงแสดงอาการ
ผ่านไปสามวัน ร่างกายของเบน แฟนของแอนเริ่มส่งสัญญาณผิดปกติบางอย่าง “แฟนเริ่มแสดงอาการวันที่ 28 มิถุนายน มีอาการปวดหัว ปวดกระบอกตา วันที่ 29 มิถุนายน เริ่มมีไข้ แต่ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นโควิด” แอนบอกว่า ช่วงนั้น เธอฉีดวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็มแล้ว แต่เบนยังไม่ได้รับวัคซีน
ตรวจ RC-PCR กับแล็บนอกแล้วผลออกมาว่าเป็นโควิด
ช่วงที่แอนกับเบนเริ่มมีอาการป่วย ยอดผู้ป่วยเริ่มกลายเป็น 6,000 คน ซึ่งเป็นช่วงที่โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มไม่รับตรวจแล้ว ทำให้ต้องติดต่อหาที่ตรวจหลายที่มาก จนในที่สุดก็ได้ตรวจกับแล็บนอก แต่ผลตรวจที่ออกมาก็เป็นที่น่าแปลกใจ คือแฟนติดเชื้อ ในขณะที่เธอเองก็มีอาการหลายอย่างที่ตรงกับโรค covid – 19 แต่ผลที่ออกมายืนยันว่าเธอไม่เป็น
“ตอนนั้นหาที่ตรวจยากมาก เพราะยังมีกฎว่าที่ไหนตรวจเจอต้องรับรักษา กว่าจะได้ตรวจคือวันที่ 6 กรกฎาที่แล็บนอก พอวันที่ 7 กรกฎาคม ผลของแฟนออกมาว่าเป็น covid แต่ผลของแอนไม่ติด ทั้งๆ ที่เรามีอาการเหมือนกันหลายอย่าง ตัดสินใจไม่ตรวจซ้ำ เพราะไม่เห็นความแตกต่างของสิ่งที่จะเกิดขึ้น เป็นหรือไม่เป็น เพราะเราก็ต้องกลับบ้านไปอยู่ด้วยกัน และดูแลตัวเองอยู่ดี เพราะไม่มีเตียง แล้วเราก็ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่าย ในขณะที่เราก็กักตัวอยู่แล้ว ไม่ได้ออกไปแพร่เชื้อให้คนอื่น”
โทรติดต่อหน่วยงานราชการ หาเตียง พยายามเข้าระบบ Home Isolation
“หลังจากทราบผลตรวจ เราพยายามติดต่อทุกช่องทาง ทั้งหน่วยงานของรัฐ และจิตอาสา ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีความชัดเจนเลยด้วยว่าให้โทรเบอร์ไหนก่อน ข้อมูลในระบบไม่เชื่อมกัน ข้อมูลที่กรอกในช่องทางออนไลน์ไม่ได้ถูกเข้าถึง เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จนในที่สุด เราพยายามโทร 1646 จนได้คุยกับเจ้าหน้าที่เมื่อผลออกแล้ว 2 วัน เขาประเมินว่าแฟนเราเป็นผู้ป่วยสีเหลือง เพราะไอเยอะ ก็ต้องรอเตียง แล้วจะมีเจ้าหน้าที่โทรมาอีกทีว่าเราสีเหลืองจริงหรือว่าสีเขียว แต่ก็ไม่มีใครโทรมา จนกระทั่งเราหายดีเป็นปกติ
ตอนที่เริ่มหาเตียงไปสัก 2-3 วัน เราก็เริ่มหายแล้ว แต่วันแรกๆ ยังเป็นไข้หนัก ก็ทำตามขั้นตอน ลงทะเบียนไปทุกช่องทาง โทรไปทุกเบอร์ แต่แฟนยังเป็นหนักอยู่ เราก็กังวลว่าจากสีเขียว (ที่เธอประเมินเอง) จะกลายเป็นสีเหลือง สีแดงไหม
พอมีระบบ Home Isolation ก็โทร 1330 แต่พอเขารู้ว่าเรามีอาการ ก็บอกเราว่าเข้าระบบไม่ได้ ต้องหาเตียง เราก็บอกว่าหาเตียงมาอาทิตย์กว่าแล้วยังไม่ได้เลย เขาก็บอกจะติดต่อมาก็หายไป เราก็โทรไปตามเรื่อยๆ เราได้คุยกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง แต่เรื่องมันไม่ไปไหน เพราะระบบไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลกัน มันวุ่นวายจนแฟนบอกว่าไม่ต้องทำอะไรแล้ว เราหายแล้ว แต่ 1330 ก็โทรมาอีก ถามว่าเราได้เตียงหรือยัง อยากเข้า Home Isolation ไหม เรื่องมันวนกลับมาที่เดิมตลอดเวลา เขาก็บอกว่าจะเร่งให้ จนถึงวันที่เราหายก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ระหว่างที่เรารอไม่เคยมีการประเมินโรคโดยหมอ เราดูแลตัวเอง ประเมินตัวเองกันตลอดทุกวัน”
สองสัปดาห์กับการต่อสู้กับ Covid 19
“แอนรู้สึกไม่สบายอยู่ 7-8 วัน แต่ที่เป็นหนักๆ คือ 2-3 วัน และไม่ได้กลิ่นเลย 4-5 วัน แต่แฟนเป็น 14 วัน เป็นหนักประมาณ 8 วัน ไม่ได้น่ากังวลว่าขนาดจะถึงชีวิต เรายังเชื่อแบบนั้น แต่กังวลว่าเชื้อลงปอดหรือยัง เราต้องได้ยาแล้วไหม แต่ติดต่อใครไม่ได้เลย มันมีวันที่อ็อกซิเจนของแฟนลดเลือ 93 เราก็เริ่มกังวล ก็เพิ่มยา homeopathy ที่กินเมื่อสงสัยว่าเชื้อไวรัสจะลงปอด แล้วอาการก็ดีขึ้น”
Note – ตามปกติค่าอ็อกซิเจนจะอยู่ที่ 95-100 ถ้าต่ำกว่า 95 ต้องจับตาดู และถ้าต่ำกว่า 90 ควรต้องพบแพทย์ด่วน
สิ่งที่ควรทำเมื่ออาการดีขึ้น
“ข้อมูลที่ได้จากแพทย์คือ นับจากวันแรกที่มีไข้ไป 14 วัน เราจะไม่แพร่เชื้อไปที่คนอื่นแล้ว ส่วนจะมีอาการไหม ก็แล้วแต่คน บางคนอาจจะมีอาการอยู่ เช่น ไอ แต่น้อยลง ยังรับรู้รส กลิ่นได้ไม่เท่าเดิม ดังนั้น หากกักตัวครบ 14 วันแล้ว และอาการคงที่ แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเอกชน เพื่อขอเอ็กซเรย์ปอด โทรเช็คกับโรงพยาบาลที่จะไปก่อนก็ได้ มีหลายโรงพยาบาลที่เปิดคลินิก ARI(Acute Respiratory Infection Clinic) โดยเฉพาะของแฟนเราหลังจากที่ไปตรวจ ผลออกมาปอดปกติดี เชื้อไม่ลงปอด หมอก็ออกใบรับรองแพทย์ให้ว่าเคยเป็นแล้วและหายแล้ว”
ความรู้สึกของแอนระหว่างรักษาตัว
“ตอนนั้นเราไม่มีความกังวลกับร่างกายเราเอง เพราะเรารู้สึกได้ว่าเราโอเค แอนไม่เคยประมาทกับเชื้อโรค ไม่รู้หรอกว่าที่เราไม่สบายอยู่นี่มันคือ covid หรือเปล่า แต่ไม่ว่ามันคืออะไร เราเชื่อว่าร่างกายของเราจะผ่านมันไปได้ เพราะเราไม่มีโรคประจำตัวและออกกำลังกายสม่ำเสมอ อายุเรา 39 ปี ก็ยังไม่ได้เข้ากลุ่มเสี่ยง แต่ที่กังวลก็คือ ร่างกายแฟนยังไงก็ไม่ใช่ร่างกายเรา เรารู้แค่ข้อมูลที่เขาบอก แต่เราไม่สามารถมั่นใจแทนร่างกายของเขาได้ เราก็คอยถามเขาตลอดว่าว่าไหวไหม ให้บอกตามความเป็นจริง เขาก็บอกว่าไหว จะหายเองได้แน่ คือเขากำลังใจดีมาก” แอนบอกถึงความรู้สึกตอนนั้น
การดูแลตัวเองที่บ้าน
“ดื่มน้ำเยอะมาก เช็ดตัวเพื่อลดไข้ โปะแผ่นเย็น เพราะมีไข้สูง ปวดหัวจนจะระเบิด มีไข้ มีผื่นขึ้น มีท้องเสีย กินยา Homeopathy ตำรับที่ดูแลอาการ covid โดยเฉพาะ และที่สำคัญอีกอย่างคือนอนเยอะมาก ช่วงแรกอาจจะไม่ได้ใส่เรื่องอาหารนัก เพราะร่างกายเพลียมาก จึงนอนเป็นส่วนใหญ่ พอเริ่มฟื้นไข้ จึงได้ทานอาหารมากขึ้น มีญาติช่วยนำวัตถุดิบมาให้ ก็ได้กินผัก ผลไม้มากขึ้น”
Note – ยา Homeopathy ที่แอนพูดถึงคือยาของ ศ.นพ.อมร เปรมกมล
สิ่งจำเป็นที่ต้องมีที่บ้าน
แอนแนะนำโดยบอกว่า ตอนนี้ covid เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนมาก การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น สิ่งที่ต้องมีและเธอคิดว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับทุกครอบครัวในช่วงนี้คือ
- ชุดตรวจ Rapid Antigen Test
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
- ปรอทวัดไข้
- สมุนไพร เช่น ขิง กระชาย
- ยารักษาโรคตามอาการ ไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพร ยาแผนปัจจุบัน หรือยาแพทย์ทางเลือกอื่นๆ
“ต้องสังเกตอาการตัวเองด้วยนะ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะถูกกับทุกคน อย่างน้ำขิง แอนกินได้ แต่แฟนกินไม่ได้ เขากินแล้วปวดหัว หรือถ้ากำลังเป็นไข้ อาจจะต้องพักกินขิง กับกระชายก่อน เพราะมีฤทธิ์ร้อน ถ้าต้องการลดความร้อนในร่างกายต้องเอาของร้อนออกก่อน ไข้ลดก่อนแล้วค่อยกิน”
คำแนะนำจากแอน
“ถ้าติด covid ก็แนะนำให้ติดต่อไปทุกช่องทางตามขั้นตอนนะ แต่อย่าฝากความหวังทั้งหมดตรงนั้นว่าจะได้เข้าสู่ระบบการรักษา เราเชื่อว่าน่าจะมีคนอีกเยอะที่พยายามจะเข้าระบบ Home isolation แบบเราแต่เข้าไม่ได้ ซึ่งถ้าใครเข้าระบบการรักษาได้ต้องบอกว่าดีแน่นอน แต่ระหว่างที่รออาจจะหวังมากไม่ได้ และต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด
ชุดยาต่างๆ เราก็รอไม่ได้ เพราะมันได้เกิดขึ้นกับคนทุกคน เราจึงต้องเตรียมพร้อมด้วยตัวเอง เพราะถึงเราจะไม่ได้รับการรักษา แต่เราจะต้องรอด อย่ารอการช่วยเหลือจากส่วนกลางอย่างเดียวเพราะอาจจะไม่ทัน ต้องสังเกตอาการตัวเอง ก็ต้องเตรียมแผนฉุกเฉินว่าถ้าอาการเราหนักเราจะต้องติดต่อใคร หรือทำอะไรต่อไป”
การดูแลจิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญ
“covid เป็นโรคติดต่อร้ายแรง แล้วสถานการณ์ก็แย่ขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะกังวลไปก่อนว่าถ้าไม่ได้เตียง เราอาจจะต้องตายอยู่ที่บ้าน คนรอบข้างก็จะกังวล มันเป็นความห่วงใยที่มาพร้อมความกังวล จากที่เราคิดว่าจะหายก็กลายเป็นกลัว เอ๊ะ จะทรุดไหม จะลงปอดไหม”
แค่ความกังวลของตัวเองก็มากพอแล้ว ยิ่งต้องแบกรับความห่วงใยจากคนอื่น แอนบอกเลยว่าตอนนั้นเธอเครียดมาก
“เอาจริงๆ เรารับความกังวลของคนอื่นด้วยไม่ไหว ตอนอยู่กันเองเราค่อนข้างนิ่งว่าจะประคองกันไปได้ แต่พอได้รับความกังวลจากคนอื่นมันก็ทำให้เราแกว่ง ไม่มั่นคง”
“แนะนำว่าอาจจะต้องพักผ่อน หยุดคุยก่อน หรือคุยกับคนที่มีประสบการณ์นี้อีกแบบ มีเพื่อนๆ ที่อยู่ต่างประเทศ อังกฤษ สเปน อเมริกา ซึ่งเขาก็ติด covid และรักษาตัวเองที่บ้านแล้วก็หาย หรือคนที่บ้านอยู่กันหลายคนก็มีเหมือนกันที่ติดคนเดียว คนที่เหลือไม่ติด มันก็เกิดขึ้นได้ มันก็ทำให้เรามีความหวังว่าเราอาจจะเป็นความจริงแบบฝั่งนั้นได้ แต่เราก็ประมาทไม่ได้ เพราะมันมองไม่เห็น ไม่เหมือนแผลเปิด แผลกว้างแค่ไหน แผลแห้งไหม หรือเป็นหนอง พออยู่ในร่างกายทำให้เราไม่รู้ว่าเชื้อโรคมันไปถึงไหนแล้ว เราไม่รู้ว่าอยู่แค่โพรงจมูก คอ หรือ ปอด ดังนั้นมันก็จะเป็นความกังวล”
“ดังนั้นเราอาจจะต้องสื่อสารกับคนป่วยตลอดเวลาว่าโอเคไหม รู้สึกยังไง แต่ความกังวลมันสามารถทำให้ร่างกายแย่ไปกว่าอาการจริงๆ ก็มี”
Note – แอนบอกว่าในกรณีที่มีคนรู้จักติด Covid สิ่งที่ควรทำคือให้กำลังใจ แต่อย่าเพิ่มความกังวลให้คนไข้
ประเมินอาการตามความจริงและอย่าประมาท
“ถ้าได้รับการรักษาคือดีที่สุดอยู่แล้ว เราพยายามติดต่อทุกคนแล้ว แต่เราไม่ได้รับการรักษา ต้องดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ เราจะประเมินว่าร่างกายของเราดีเกินไปก็ไม่ได้ จะพูดแต่ว่าเราต้องสู้ ต้องหาย ทั้งๆ ที่เราอาการหนักแล้วก็ไม่ได้ เพราะเราประมาทเชื้อโรคไม่ได้ แต่เราก็จะไม่กังวลมากเกินไปจนทำให้เครียดและอาจมีผลกระทบต่อร่างกาย
ดังนั้น ให้สังเกตตัวเองให้ดี ถ้ารู้สึกแย่หรือรู้สึกว่าเสี่ยงเกินไป ไม่ต้องทน เราจะไม่อดทนในสถานการณ์นี้ เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะทรุดเร็วแค่ไหน
ถ้ามันแย่เราจะทำตามแผนฉุกเฉินที่เราวางไว้ จะโทรเบอร์นี้ จะติดต่อคนนี้ นี่คือสิ่งแอนคิดว่าสำคัญมาก เราจะดันทุรังว่าฉันจะหายเองอย่างเดียวก็ไม่ได้ ในช่วงนี้เราต้องตัดสินใจอะไรเยอะมากแทบทุกวัน ค่อยๆคิด เลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง และให้เคารพการตัดสินใจของตัวเอง
ณ ตอนนี้แอนคิดว่าเราทุกคนมีโอกาสติด ดังนั้นถ้าเราไม่สบายให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็น covid ให้ดูแลตัวเองมากๆ ถ้าตรวจได้ก็ตรวจ แต่ถ้าต้องรับความเสี่ยงจากการไปตรวจโรคก็ต้องตัดสินใจดีๆ เพราะเราไม่รู้ว่าสายพันธ์ุที่เรารับมาเป็นสายพันธุ์อะไร ซึ่งกรณีของเบน คิดว่าถ้าเป็นสายพันธุ์ร้ายแรงก็อาจจะแย่กว่านี้ ดังนั้นเราต้องตัดสินใจให้เร็วและตัดสินใจให้ถูกที่สุด”
อย่าประมาท แต่ก็อย่ากังวลจนเกินไป พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์จำเป็นที่ต้องมีติดบ้านที่แอนแนะนำ เผื่อในกรณีฉุกเฉิน CLEO Thailand หวังว่าเคสของเบนและแอนจะเป็นประโยชน์กับคนอ่านของเรา ในยุคที่เรามีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสมากกว่าไม่ติด เราขอเป็นกำลังให้ทุกคนสามารถฝ่าฟันให้ผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้
ด้วยความปรารถนาดี
* Homeopathy การแพทย์โฮมีโอพาธีย์ คืออะไร?
คือ การแพทย์ทางเลือกเชิงระบบที่ถือกำเนิดจากปนระเทศเยอรมัน ใช้หลักการผลิตยาปกติสำหรับบำบัด รักษาผู้ที่ได้รับความเจ็บป่วยในอาการเดียวกัน โดยใช้สารที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยในคนหนึ่งส่วนมาเจือจางกับน้ำหรือแอลกอฮอล์อีก 9 หรือ 99 ส่วน พร้อมทั้งเขย่าขึ้นลงในแนวตั้ง 10 หรือ 100 ครั้งตามสัดส่วนที่เจือจางซึ่งเรียก ขนาดความแรง เป็น 1D หรือ 1C จากนั้นนำสาร 1D หรือ 1C มาเจือจางต่ออีก1:10 หรือ 1:100 พร้อมเขย่าเช่นเดิม 10 หรือ 100 ครั้ง จะเรียก ขนาดความแรง 2D หรือ 2C ทำไปเรื่อย ๆ จะมีความแรงในการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นตามความแรงที่เพิ่มขึ้น
ที่มา : พจนานุกรมการสาธารณสุขไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2559
By Ben Wiboonsin