โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ IMPOSTER SYNDROME มักเกิดขึ้นได้กับคนส่วนใหญ่ พบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 25 – 45 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จสูงในหน้าที่การงาน นักวิชาการ รวมไปถึงเด็กจบใหม่ ซึ่งถือเป็นโรคที่อันตรายไม่น้อย เพราะโรคนี้นอกจากจะทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง ยังสามารถพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้า และทำให้ถึงกับท้อแท้และสิ้นหวังในชีวิตเลยทีเดียว
อาการที่เสี่ยงเป็น Imposter Syndrome
- กดดันตัวเองสูง เมื่อคุณมีผลงานออกมามากมาย มีคนชื่นชมในผลงานของคุณ แต่คุณกลับรู้สึกว่ามันต้องดีกว่านี้ หรือมีแนวคิดว่าความสำเร็จของคุณเกิดจากโชคช่วยเท่านั้นไม่ได้มาจากความสามารถ
- ขาดความมั่นใจในตัวเองบ่อยและกลัวความผิดพลาด มักจะกังวลว่าตนเองจะทำไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ
- เมื่อเกิดข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองขาดความรู้ความสามารถ ไม่เก่งจริง
- มีความ Perfectionist สูง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ เป๊ะทุกขั้นตอน
- มีแนวคิดว่า “ถ้าฉันทำได้ คนอื่นก็ทำได้” มักคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำออกมาไม่ได้เป็นสิ่งพิเศษอะไร เป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็สามารถทำได้
เอาชนะ โรค Imposter Syndrome ให้หาย เริ่มได้ที่ตัวคุณ
คุณสามารถปรับและแก้ไข อย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยตัวเองได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ชื่นชมในความสำเร็จของตัวเองบ่อย ๆ ลองนึกถึงผลงานที่ตัวเองทำออกมาได้ดี และคำชมเชยที่ได้รับ
- เชื่อมั่น มั่นใจในความสามารถและศักยภาพที่เรามี ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นจากตัวเรา ความสามารถของเรา ไม่ใช่เพราะโชคช่วยเสมอไป
- ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ เพราะต่างคนต่างมีความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบจะยิ่งทำให้ความมั่นใจในตัวเองลดลง
- ปรึกษาเรื่องราวต่างๆ แชร์ความรู้สึกที่เรามีกับคนอื่น เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน สิ่งนี้จะช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้น และอาจได้คำแนะนำในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วย
- ลองคิดว่าไม่ว่าใครก็ผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบและก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องสมบูรณ์แบบด้วย ( Nobody Perfect and no need to be perfect )
พบคนเป็น Imposter Syndrome ในที่ทำงานจะทำอย่างไร?
ในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน คนที่เป็นโรคนี้ก็สูงขึ้นตามไปด้วย ในฐานะคนรอบข้างหากคุณพบเจอคนที่เป็นโรคนี้ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคนี้ ลองชวนเพื่อนร่วมงานของคุณออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ทำสิ่งแปลกใหม่อะไรก็ตามที่ช่วยคลายความเครียด นอกจากนี้ลองส่งพลังบวก เช่น การชมกันเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน ให้กำลังใจกันและกัน สิ่งนี้นอกจากจะทำให้ได้รับพลังงานดีๆ แล้วยังส่งผลให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้นอีกด้วย
ท้ายนี้เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่มีอาการของโรคนี้ และสามารถเอาชนะความคิดที่ว่า “เราไม่เก่ง” ได้ในเร็ววัน อย่าปล่อยให้งาน และความคิดแย่ๆ ทำร้ายคุณ ลองใจดีกับตัวเอง และ รักตัวเองให้มากๆ
สามารถอ่านบทความอื่นๆ ของ cleo ได้ที่: