เคยไหมที่รู้สึกเฉยๆ กับทุกสิ่งอย่าง เหมือนความรู้สึกเป็นศูนย์ แม้จะเจอเรื่องราวอะไรก็ตามแต่ก็ไม่ได้รู้สึกยินดีหรือโศกเศร้าเสียใจ หากเปรียบง่ายๆ ก็เหมือนจิตใจมีแต่ความว่างเปล่า นี่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณอาจจะเผชิญอยู่กับ ภาวะสิ้นยินดี ( Anhedonia ) ก็เป็นได้ เพราะสิ่งนี้สามารถพรากความรู้สึกของคุณไป แม้กระทั่งสิ่งที่เราเคยทำแล้วรู้สึกดีมีความสุขแต่กลับไม่ได้รู้สึกแบบนั้นอีกต่อไป เช่น เรื่องงานอดิเรก การสนทนา หรือแม้กระทั่งเรื่อง Sex
ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า Anhedonia มักจะพบในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์แต่ก็สามารถพบในคนปกติทั่วไปได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นเพศหญิงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Anhedonia มากกว่าเพศชาย อีกด้วย มีผู้คนที่เป็นซึมเศร้าและ Anhedonia เคยกล่าวไว้ว่า “ความรู้สึกว่างเปล่านี่แย่กว่าการเป็นซึมเศร้าด้วยซ้ำ” เพราะซึมเศร้าอย่างน้อยก็ยังรู้ว่าตัวเองเศร้าแต่ภาวะนี้กลับทำให้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีอารมณ์ยังไง
Anhedonia คืออะไร?
คืออาการของผู้ที่ไม่มีความรู้สึกร่วมกับสิ่งใดทั้งสิ้น ไม่ยินดียินร้ายหรือสุขทุกข์อะไรทั้งนั้น โดยในทางการแพทย์ภาวะนี้เป็นอาการทางจิตเวช ซึ่งเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ชนิดซึมเศร้า (depression)
สาเหตุของ Anhedonia
มีหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ปลอดภัย การพบเจอกับประสบการณ์ร้ายแรงในชีวิตมาก่อนซึ่งกระทบต่อจิตใจ เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ/ ถูกทำร้ายร่างกาย ความเครียดที่สะสมอย่างยาวนาน รวมไปถึงการใช้สารเสพติด
นอกจากนี้นักวิจัยคาดว่า anhedonia อาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมองจึงมีผลต่อ โดปามีน ซึ่งเป็นสารเคมีทางอารมณ์ที่ทำให้ “รู้สึกดี”
อาการของ Anhedonia
- มีความสามารถในการแสดงอารมณ์ลดลง
- ชอบอยู่คนเดียว ปลีกตัวจากสังคม
- มีความสุขลดลงจากการทำกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมที่ชอบทำ
- มีความคิดด้านลบต่อตนเองและผู้อื่น
- ความต้องการทางเพศลดลง
- รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไรหรือไปไหน
จะทำอย่างไรหากเป็น Anhedonia ?
อย่างแรกเลยคือรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งแนวทางรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือใช้การบำบัดและใช้ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นอกจากนี้การกินยาเพื่อปรับกระบวนการการทำงานของสมองส่วน Brain reward system ให้เกิดความสมดุลก็สามารถช่วยได้อีกทางหนึ่ง
เนื่องจากคนที่เป็นภาวะนี้จะไม่มีแรงบันดาลใจ ความสุข แต่การแสวงหาจุดมุ่งหมายในชีวิตและการเติมเต็มจิตใจด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การเป็นอาสาสมัคร การมีส่วนร่วมของชุมชน หรือกิจกรรมทางศาสนา ก็เป็นตัวช่วยที่ดี และควรให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารที่ดี ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเต็มที่
ถ้าหากคุณมีคนใกล้ชิดที่คาดว่าจะเป็น Anhedonia ให้หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่รุนแรงหรือกระทบจิตใจ ไม่กดดัน และควรเป็นผู้ฟังและผู้ให้คำปรึกษาที่ดี
สามารถอ่านบทความอื่นๆ ของ CLEO ที่: