ผู้หญิงที่โตมากับสายงานศิลปะ หลายคนจะมองว่าเธอต้องมีความติสท์อยู่ในตัว แต่วันหนึ่งที่ผ่านชีวิตมาหลายรูปแบบจนทำให้รู้แล้วว่าอะไรที่เป็นเรื่องสนุกและอะไรที่เป็นความพอดีของชีวิต โดยเฉพาะเมื่อถึงวัยสร้างครอบครัว กุ๊ก-ชนิดา วรพิทักษ์ เธอสร้างแบรนด์ Cuscus the Cuckoos แบรนด์แฟชั่นและแอคเซสเซอรี่ที่เราจะบอกกับคนอื่นว่าเก๋และจัดจ้านด้วยลายคาแร็คเตอร์น่ารักปนสะพรึงนิดๆ ด้วยคอนเซ็ปท์ใส่สีสันให้มากที่สุดลงไปบนงานชิ้นนั้น แต่ที่เราประทับใจในตัวเธอเอามากๆ อาจเพราะว่าแอตติจูดที่เปิดกว้างการเล่าถึงงานประจำที่มีความสุขและการสร้างแบรนด์ที่อาจไม่ได้รายได้ถล่มทลาย แต่มีคนทั่วโลกที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่กุ๊กบอกผ่าน Cuscus the Cuckoos มาเสมอ
กุ๊กเล่าถึงการโตมากับความรักในการวาดรูปว่า “ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อเป็นคนใต้ที่อยากเรียน ม.ปลาย เพื่อขอติวเข้าศิลปากรให้ได้ แต่ย่าไม่ให้เรียน พอมีลูก คุณพ่อก็สอน drawing ก่อน พ่อโยนหนังสือพิมพ์ให้เราวาดขาวดำตามแบบในหนังสือพิมพ์ วาดน้ำหนักตามนี้ ขาว เทา ดำก็จะง่าย มารู้ตัวเองอีกทีตอนที่เพื่อนสนิทไปเรียนนิเทศศิลป์ ม.กรุงเทพ เราก็เข้าไปเรียนด้วยรู้สึกเลยว่าโชคดี เราชอบการ drawing มีอาจารย์พิเศษท่านหนึ่งบอกเราว่าไม่ต้องออกแบบโลโก้ แต่ให้ถ่ายวีดีโอบอกความรู้สึก เราเลยสนใจงาน animation ทำไปเรื่อยๆ และสมัครเป็นพนักงานประจำ ทำเป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ กึ่งๆ อาร์ต ไดเร็คเตอร์”
ส่วนใหญ่แล้วศิลปินที่ชอบครีเอทงานวาดรูปต่างๆ จะรู้สึกไม่ชอบงานประจำ เพราะทำให้ตีกรอบสิ่งที่รู้สึก แต่กุ๊กบอกว่าเธอชอบการทำงานประจำเอามากๆ “เราได้เจอเพื่อนร่วมงานที่น่ารักหลายที่ ตอนทำงานที่ห้าง เราชอบมาก ได้คิดธีมต่างๆ เช่น ปีใหม่ คริสต์มาส ดีไซน์ได้อย่างอิสระ เราเสนอไอเดีย มีคนร่วมทีมเยอะ พอคิดธีมเสร็จ เราทำกราฟิก คิดว่ามีสิ่งพิมพ์อะไรบ้าง ต้นทุนเท่าไหร่ คิดไปจนภาพเคลื่อนไหว ไปคุยกับพี่ที่ทำจอ ควรทำจอไหนดี วันๆ หมดไปกับการเดินเล่นอยู่ในนั้น มีโอกาสได้ทำ Visual Merchandising แบรนด์เนมดังๆ จากต่างประเทศ เขาจะมี manual มาให้ เราสนุกกับการจัดไฟทำยังไงให้กระเป๋าดูแพง เรารู้ทริคว่าเขาทำยังไงบ้าง”
“แต่พอจุดหนึ่งอิ่มตัวเราออกมาเบรคเพราะสุขภาพไม่ดี ทำงานหนักจนผมร่วง เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง เบรคอยู่ปีหนึ่งทำฟรีแลนซ์ไป จากนั้นก็ทำงานบริษัทออกแบบอีเวนท์จนเราแต่งงานมีลูก รู้สึกว่าแพ้ท้องหนักมาก ลุกไม่ได้เลยหน้ามืด เลยเบรคงานไปก่อน พออยู่บ้านทุกอย่างดีขึ้น หลังจากที่ลูกอายุ 1 ขวบ มีช่วงที่เขานอน เราลองวาดรูปดูและช่วงนั้นมีโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมให้เราได้อัปผลงาน”
คลีโอได้ถามว่าตอนที่ทำงานประจำมีเสียงเรียกให้ตัวเองทำตามแพชชั่นส่วนตัวมั้ย กุ๊กบอกว่างานประจำสนุกมาก เธอทุ่มตัวเองกับงานเต็มร้อย เสาร์อาทิตย์ก็ยังไปทำ เพราะได้เจอกับเพื่อนที่ทำงาน ยังไม่รู้สึกว่าต้องลองอะไรใหม่จนทำงานประจำผ่านไป 10 ปี ค่อยๆ กลับมาวาดรูปใหม่และอาจเพราะตอนเรียนเคยมีอาจารย์บอกว่าไม่ควรใช้สีเยอะ จากข้อจำกัดและอุปสรรคของโรงพิมพ์ในยุคนั้น แต่ถึงตอนนี้กุ๊กมีอิสระในเรื่องของการใช้สีเลยจัดเต็มมาทุกเฉด “เราอยากทดลองกับสี ชอบดูหนังสือเก่า นิทานเก่าฝั่งยุโรปลายเส้น 60 ปีที่แล้ว เราเอาตรงนั้นมาพัฒนาต่อ เราตั้งใจวาดให้หวานน่ารัก แต่อดใจไม่ได้ที่จะกึ่งน่ากลัว รู้ว่าสีชมพูขายดีแต่เราไม่ใส่บนดอกไม้ ใส่ไปบนแมงมุมแทน ยังไม่มีใครทำแมงมุมสีชมพู”
งานรูปสัตว์ที่ดูน่ารัก แต่ก็มีความน่ากลัวแฝงทำให้ลายต่างๆ ของ Cuscus the Cuckoos เป็นคาแร็คเตอร์ดีไซน์ที่ไม่เหมือนใครซึ่งกุ๊กเองบอกว่าไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน “ภาพในหัวจะเป็นอะไรที่หวานๆ มีดอกไม้ พอวาดไปเอาอีกแล้ว แต่เราชอบเส้นไง เราอยากลองทำผ้าพันคอ เพราะไปเจอหนังสือรวมกราฟิกของแอร์เมส รวมงานตั้งแต่ยุคแรก เราเห็นการใช้เส้นแต่ละสโตรคที่มีความหนาเท่านี้ เพราะเวลาพิมพ์จะเห็นได้ชัด มันมีเหตุผลในการวาด แล้วเราได้โรงงานพิมพ์ผ้าที่มีคุณภาพดี โรงงานไม่เทน้ำเสียทิ้ง ราคาต่อผืนเรารับได้ ต้นทุนไม่สูงมากเกินไป เราอยากให้มีงานให้คนไทยได้ทำ”
จุดนี้เป็นอีกมุมที่เรามองว่าแบรนด์ของกุ๊กไม่ใช่มีลายวาดที่น่าสนใจแต่ยังคิดถึงปัญหาการผลิตที่ใส่ใจถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย “ผ้าไหมของบางประเทศจะใช้แรงงานชนกลุ่มน้อยปลูกซึ่งเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟมาก เราไม่เคยรู้ แต่พอเราไปออกแฟร์ที่อังกฤษ ได้เจอบายเออร์ตามห้าง เขาถามว่าทำไมเรายังใช้ผ้าไหมกับคอตตอนอยู่ เขาบอกว่าคอตตอนทำร้ายธรรมชาติ เกษตรกรต้องใช้ยาฆ่าแมลงไม่ให้ฝ้ายโดนกิน ถ้าเลือกแบบออร์แกนิคก็ต้องใช้น้ำในการผลิตเยอะมาก ทั้งที่ในประเทศที่ปลูกคนในประเทศยังไม่มีน้ำสะอาดกินเลย เขาถามว่าลองผ้ารีไซเคิลหรือยัง เราลองกลับมาหาผ้ารีไซเคิลที่ทำจากขวดน้ำพลาสติกแต่ราคาแพงมากเท่าผ้าไหมเลยซึ่งผ้าไหมที่ทางแบรนด์ใช้ก็มาจากอุบลฯ ขอนแก่น อุดรธานี เป็นชาวบ้านที่ดีลกับโรงงานที่กุ๊กใช้”
โควิดที่ผ่านมาอาจทำให้แบรนด์ Cuscus the Cuckoos สะดุดไปบ้าง แต่ยังสามารถส่งไปขายที่เกาหลีได้อยู่ ทุกคนยังช้อปกันอย่างปกติให้เศรษฐกิจหมุนเวียนไป “เราไปเจอลูกค้าเกาหลีตอนไปออกงานแฟร์ที่อังกฤษ เขาเป็นร้านเล็กๆ เป็นป๊อปอัพที่บ้ายไปตามห้างต่างๆ ส่วนใหญ่ลูกค้าเกาหลีไม่ต้องซื้อแบบลายใหม่ๆ เราจะรีปริ้นท์ลายเดิมๆ โควิดทำอะไรเกาหลีไม่ได้ เพราะคนรู้สึกว่าโอเค อาจเพราะเขาสนับสนุนศิลปิน หนัง ดนตรีหรือแกลเลอรี่ แบรนด์เราเลยได้ส่งผ้าพันคอผืนเล็ก กระเป๋าขนนก เสื้อเชิ้ตที่ขายดี ของใช้แฟชั่นทั่วไปไปขายตลอด”
ส่วนในเมืองไทยเองกลุ่มลูกค้าก็ไม่ใช่แค่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือสาวในเมืองเท่านั้นนะ เพราะลูกค้าอยู่ปลายสุดประเทศก็มี “เราส่งออกต่างจังหวัดเยอะมาก ดีมากที่รู้ว่าลูกค้าอยู่ทุกที่ เขาอยากได้สีสันในชีวิต อย่างเรามีเสื้อผ้ามินิมัลแล้ว แต่ไม่มีแอคเซสเซอรี่สีแรงๆ ไปเลย แบรนด์เราเลยเหมาะกับคนที่ขี้เกียจแต่งตัวชอบความง่ายๆ หรือคนแต่งตัวเยอะก็เอาไปแมทช์ได้อะเมซิ่งมาก เราเองยังไม่รู้ว่าแต่งแบบนี้ได้ด้วย บางคนซื้อไปเก็บแขวนโชว์ ช่วงแรกจะเป็นลูกค้าผู้หญิงเยอะ แต่สองปีหลังเรามีเสื้อโอเวอร์ไซส์เน้นตัวใหญ่ เพราะเราทำใส่เองก่อน ลูกค้าผู้ชายก็เลยเริ่มเยอะตาม”
ฟังสิ่งที่กุ๊กเล่าแล้วมีความสุขเหมือนว่าเราไม่ต้องจำกัดตัวเองว่าอยู่ที่ไหน ทำงานบริษัท เป็นฟรีแลนซ์หรือทำแบรนด์เอง กุ๊กบอกว่า “ตื่นมาแล้วเราต้องอยากทำอะไรก่อน ถามตัวเองว่าเราอยากทำใช่มั้ย ถ้าอยากทำมันจะไม่ใช่งาน จะเป็นงานอดิเรกก็ทำไปเถอะ ทำต่อเนื่อง เราอาจมองว่าดีบ้างไม่ดีบ้างในช่วงแรก และเราจะคิดง่ายๆ ว่าเขาทำอะไรกัน เราอย่าทำตาม จะเปลี่ยนเลย แต่ก็ต้องดูบาลานซ์ว่าทำแล้วคัฟเวอร์ค่าใช้จ่ายได้มั้ย พอเราไม่เครียดก็ไม่ต้องกดดันว่าต้องทำอย่างนั้น ยอดต้องได้เท่านี้ มันจะมีทางของมัน เราเข้าใจเลยว่าคนทำงานประจำ พออายุ 35 ปี จะเริ่มเห็นแล้วว่างานประจำไม่มั่นคง เราจะให้กำลังใจไปว่า ลองหาสิ เสาร์อาทิตย์ให้หาว่าเราทำอะไรแล้วชอบ ทำขนม น้ำเต้าหู้ โยเกิร์ตให้คิดว่าทำเล่นๆ เราคิดว่าตัวเองทำเล่นๆ ตลอด แล้วจะไม่กดดัน”
“แต่ถ้านั่งเฉยๆ แล้วเครียด ไม่รู้จะทำอะไรก็ทำงานประจำไป ทำงานประจำก็สนุกได้ ทุกวันนี้ทำของตัวเอง เราคิดว่าทำงานประจำอยู่นะ แต่ทำคนเดียว อยู่ที่จริตของตัวเอง มีเงินเป็นร้อยล้านกับพันหนึ่งยังไงก็ใช้หมด แต่ทำยังไงให้ตัวเองสนุกต้องหาให้เจอตื่นมาหาหนังสือดีๆ อ่าน ดูหนัง กินข้าว เรารู้ว่าทุกคนอยากมีเงิน มีค่าใช้จ่ายต่างๆ รออยู่ แต่อยากให้ทำอะไรก็ได้ที่หาโจทย์ใหม่ให้ชีวิต เหมือนเรารู้จักตัวเองมากขึ้น สร้างทางของตัวเองอีกแบบ เพราะทางของแต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก”
ใครที่สนใจแบรนด์ Cuscus the Cuckoos เข้าไปดูได้ที่ IG: @cuscus_thecuckoos หรือไปที่ร้าน The Selected ไอคอนสยาม
อ่านเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ CLEO Thailand และ FB > CLEO