ครีเอทีฟทีเดียวกับธุรกิจนี้ “พวงหรีดดอกไม้ประดิษฐ์” ของเพื่อนสามคน กุ้ง-ฝน-ตือ จากความฝืดช่วงโควิด พวกเธอพัฒนาไอเดียกัน จนได้เป็นธุรกิจนี้มา ค่อยๆ เริ่มทำและเวิร์คขึ้นเรื่อยๆ!
ความสู้ไปให้สุดของ กุ้ง-ธนพร คล้ายอมร แอร์โฮสเตสที่อาชีพเธอต้องหยุดชะงักไปในช่วงโควิด ทำให้เธอต้องหาทางทำให้ตัวเองรอดให้ได้ กุ้งฝ่าฟันทำอะไรขายมาเยอะ จนมาเจอธุรกิจที่เกิดจากความจริงของชีวิต มีคนเยชีวิตเยอะ รวมทั้งคนที่เธอสนิทด้วย เลยเกิดความรู้สึกว่าคนต้องส่งพวงหรีดกันมากมายแน่ๆ แล้วจะเป็นยังไงนะ ถ้ามีพวงหรีดที่สวยด้วยและไม่ต้องทิ้ง! เกิดเป็นธุรกิจเล็กๆ “Take A Wreath” พวงหรีดที่ทำจากดอกไม้ประดิษฐ์ และไม่ต้องทิ้ง สามารถเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้
“เราเป็นแอร์แล้วตอนโควิดไม่ได้ทำงานเลย ช่วงแรกๆ ก็ทำของขายไปเรื่อยๆ จนมาคุยกับเพื่อนแล้วเราเห็นว่ามีงานศพเยอะจัง ตอนนั้นคนไปงานศพไม่ได้ ก็เลยมาคิดกันว่าทำยังไงนะให้พวงหรีดที่วางในงานสวยได้ตลอด” กุ้งเลยพัฒนาไอเดียกับเพื่อน ฝนและตือต่อว่า “ถ้าอย่างนั้นเราทำเป็นพวงหรีดดอกไม้ประดิษฐ์ ที่มีระบบไปวางให้และไปรับกลับมาใช้ต่อดีไหม?”
กุ้งบอกว่าสิ่งที่เธอเห็นมาก็คือ หลังจากงานจะต้องมีพวงหรีดมากมายกองพะเนินรอให้รถก.ท.มมาขนไป “เราเห็นเลยว่าขยะเยอะมากๆ เลยเอาไอเดียนี้ไปถามคนอื่น ตอนแรกก็ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะเหมือนเป็นธุรกิจขาว-ดำ และคนไทยชอบดอกไม้สด แต่เราคิดว่าเราอยากทำให้ดอกไม้สวยตลอด 7 วัน เจ้าภาพงานเขาจะได้เห็นดอกไม้ของเขาสวยตั้งแต่วันแรกไปจนวันสุดท้าย อย่างน้อยก็ได้ลดขยะได้แล้ว”
กุ้งเลยเริ่มทำพวงหรีดดอกไม้ประดิษฐ์ขึ้นมา เธอหาข้อมูลมาว่าแค่ในกรุงเทพฯ ก็มีสถานทำงานศพ 400 แห่งแล้ว จะมีอีกกี่ศาลา กี่พวงหรีดที่ไปวาง ขยะน่าจะเยอะพีคๆ แล้วเป็นขยะที่แยกชิ้นยากด้วย กุ้งเลยเริ่มจาก “เราใช้ดอกไม้ผ้าและดอกไม้พลาสติก เน้นการใช้ซ้ำ เราเอาไปส่งที่งาน แล้วเอากลับมาทำความสะอาด ปัดฝุ่น เติมแต่งให้มันสวยขึ้น แล้ววันหนึ่งที่มันพังแล้วจริงๆ เราจะแยกชิ้นส่วนส่งไปให้ที่ N15 technology เขาจะรับขยะที่รีไซเคิลไม่ได้แล้ว เอาไปเผาโดยใช้พลังงานความร้อนจัดที่ไม่เกิดคาร์บอนไดออกไซด์”
กุ้งให้ชื่อแบรนด์ของเธอว่า “Take A Wreath” เธอดีไซน์พวงหรีดเป็นกระดานไม้ เอาหนังหุ้ม ตรึงกับโฟม แล้วปักดอกไม้ลงไป ตอนนี้เธอมีทั้งหมด 36 แบบ ที่มีตั้งแต่ราคา 1,800, 2,500 และ 3,000 บาท “ปกติพวงหรีดดอกไม้สดเขาจะใช้ดอกไม้ที่จะโละแล้วมาทำ พวงหรีดดอกไม้ประดิษฐ์เลยแพงกว่าดอกไม้สดมากๆ เราเอาไปส่งที่งานเอง และไปรับเก็บเอง และเราพยายามใช้เป็นรถยนต์ไปส่ง คือทำด้วยตัวเองได้ก่อน เราก็จะทำ”
Take A Wreath ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มมีลูกค้าซื้อซ้ำ มีการพัฒนาสไตล์ และใส่ความเป็นศิลปะลงไปในงานดีไซน์ รวมทั้งทุกยอดการสั่งซื้อ Take A Wreath จะแบ่งเงิน 10% ไปบริจาคให้ผู้ชายชนม์ด้วย “เราไปถวายเพลให้กับผู้วายชนม์ทุกอาทิตย์ และบริจาคตามมูลนิธิต่างๆ ระลึกถึงทุกท่านด้วยใจ และพวงหรีดทุกพวงเราตั้งใจทำ ตั้งใจไปส่งและไปรับกันจริงๆ”
สิ่งที่ทำให้กุ้งและเพื่อนๆ สร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่างกันได้ กุ้งบอกว่า “เป็นเพราะว่าเราต้องสู้ ท้อได้แต่ต้องไม่ถอย ล้มได้ก็ต้องรีบลุค โควิดสอนให้เราไม่อายที่จะขายอะไร และเราก็ตั้งใจทำด้วยใจของเรา จนกลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตพวกเราไปเลย”
เข้าไปดูพวงหรีดดอกไม้ประดิษฐ์ Take A Wreath กันได้เลยนะ
อ่านเรื่องราวอื่นๆ ต่อได้ที่ ธุรกิจในฝันที่มาจากคำอธิษฐาน