บางคนพอแค่ได้ยินคำว่า “สัญญานะ” ก็ขนลุกไปหมด เขาไม่สามารถสัญญาใครได้ และเขาก็หลีกเลี่ยงคำๆ นี้เสมอ ทำไมคำสัญญาช่างยากจังสำหรับบางคน
เป็นมั้ยหัวใจฟูทุกครั้ง ที่เราได้ยินคำสัญญาจากใคร “สัญญาว่าจะรักเธอคนเดียว” “สัญญาว่าจะไม่ทิ้งกัน” และอีกหลายคำสัญญา ที่ภายหลังก็เป็นจริงบ้าง ไม่เป็นจริงบ้าง และเป็นมั้ยที่เราเองเวลาจะรักษาสัญญากับใคร กล้าๆ กลัวๆ ไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าจะสัญญาดีไหม เราจะทำได้ตามนั้นไหม เราเลยเลือกสัญญาไปแบบไม่ชัวร์ หรือตั้งใจสัญญาจริงๆ แต่ก็ทำไม่ได้ตามสัญญานั้น
คำสัญญาเลยเปรียนเหมือนคำสัตย์ที่มีต่อจิตใจทั้งคนสัญญา และคนรอคำสัญญา คำสัญญาอาจเป็นความมั่นใจที่มอบให้ เป็นความรักที่ขอให้รอ คำสัญญาสร้างความหวัง สร้างแรงบันดาลใจ และอีกมากมายที่กลายเป็นความหมายในคำเพียงสองพยางค์นี้
คำสัญญาที่ทรงพลัง มักเป็นคำสัญญาที่เราปฏิญาณกับตัวเอง อาจเป็นความตั้งใจอันมุ่งมั่นที่เราจะรักตัวเองให้จริงแท้ต่อจากนี้ไป คำสัญญาที่เราจะเลิกยอม เลิกทำสิ่งที่ไม่ดีกับตัวเอง คำสัญญาที่จะดูแลใครให้ดีที่สุด หรือคำสัญญาที่จะมอบชีวิตเพื่อรับใช้จักรวาล คำสัญญาอันทรงพลังเช่นนี้ จะให้พลังงานเรากลับมา เหมือนที่เขาบอกว่า “คำพูดของเราศักดิ์สิทธิ์เสมอ” บางครั้งคำสัญญาจึงมอบความมหัศจรรย์ให้กับชีวิต แบบไม่คาดฝันได้เลย
แต่คำสัญญาบางครั้งเปลี่ยนไปตามปัจจัยรอบตัว กำลังสัญญาอยู่ดีๆ ถ้ามีเหตุเกิดกับเรา เลิกกับคนรัก ออกจากงาน คนในครอบครัวเสียชีวิต เราก็อาจจะรักษาสัญญาไม่ได้ และถ้าเป็นแบบนี้ซ้ำอีก เราก็อาจจะถึงกับ “ไม่เชื่อในคำสัญญา” อีกต่อไป คำสัญญาจึงคงกลายเป็นสิ่งยากที่จะรักษา และอาจเป็นเหมือนตราอะไรในชีวิตของคนๆ หนึ่งได้
ความฝืดๆ ของชีวิต อาจมาจากการพยายาม “รักษาสัญญา” เรียกว่าเราแทบจะกินคำสัญญาเป็นอาหาร รู้ทั้งรู้ว่าไม่ไหว แต่เราติดกับคำสัญญานั้น และต้องพยายามรักษาไว้ เพราะกลัวว่าเราจะกลายเป็นคนผิดคำสัญญา แน่นอนว่าเราก็ไม่อยากให้ใครทำแบบนั้นกับเรา เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เธอรู้ว่าเขาไม่ใช่ และเธอทุกข์กับการอยู่กับเขาตั้งแต่ 2 ปีแรกที่แต่งงานกัน แต่เธอต้องทนเพียงเพราะอยาก “รักษาสัญญา” คำสัญญาเลยกลายมาเป็นคำพูดของตัวเธอเอง ที่กลับไปทำร้ายตัวเอง นั่นทำให้คนบางคนไม่อยากรักษาสัญญาอีกต่อไป
เราควรให้ “คำสัญญา” กับใครไหม? คำสัญญาเป็นเหมือนการเข้าไปสำรวจตัวเองด้วยเหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจตัวเองอย่างชัดเจนแล้ว เราจะรู้ว่าสิ่งนี้เราให้คำสัญญากับใครได้ไหม คนที่ยังไปไม่ถึงจุดที่เข้าใจตัวเองได้ดี อาจจะโอนอ่อนง่ายเวลามีปัจจัยต่างๆ แทรกเข้ามา และทำให้คำสัญญาไม่เป็นจริงได้ สภาวะที่เรารู้อยู่แก่ใจว่า ในความจริงอาจมีอะไรเปลี่ยนแปลง และเราต้องเสียคำสัญญาไป ถ้าเรายังไปให้คำสัญญากับใคร นั่นคือเราอาจกลัวว่าเขาจะไม่ยอมรับเรา หรือเราไม่เท่พอสำหรับเขา เราเลยต้องเอาคำสัญญามาแลก
แต่กับคนที่เข้าใจตนเองได้ดีแล้ว เรื่องบางเรื่องเขาจะให้คำสัญญาได้จริงๆ เขารู้ชัดว่าเขาทำสิ่งนั้นได้แน่นอน และเขาจะมีวิธีรักษาสัญญา ที่อาจทำให้อีกฝ่ายสบายใจ แต่ก็ไม่ได้ยึดติดเกินไปด้วยเช่นกัน
เขาจะรู้ได้เองในใจ ว่าตัวเรารักษาสัญญาได้ไหม และอะไรก็มาบังคับให้เขาสัญญาไม่ได้ ถ้าใจเขาไม่พร้อมจริงๆ
คำที่ไม่สัญญา ไม่ได้แปลว่าเขาไม่จริงใจ
เราจะเหมาว่าการที่ใครสักคนที่เราแคร์ ไม่สามารถให้คำสัญญากับเราได้ เป็นคนที่ไม่จริงใจก็อาจจะดูไม่แฟร์กับเขานะ บางคนบอกว่า “โมเมนท์นี้ เวลาที่เรามีด้วยกันตอนนี้ การกระทำในตอนนี้ คือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าคำสัญญา” เขาให้ความสำคัญกับปัจจุบัน และอยู่ในความเป็นจริง เขาไม่คิดว่าการไปกะเกณฑ์อะไรกับอนาคต จะดีงามกว่าทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คำสัญญาจึงเอามาใช้ตึความความไม่จริงใจไม่ได้สำหรับเขา
แต่ก็ต้องแยกแยะเหมือนกัน เพราะคนที่หลอกกันด้วยคำสัญญาก็มีอยู่ ยิ่งถ้าเขาพูดมันบ่อยๆ หรือพูดไถ่โทษเวลาทำอะไรผิด อาการละล้ำละลักสัญญาเพื่อรั้งใครไว้ อะไรแบบนี้มองให้ดีๆ ว่าเขาพูดมันจากหัวใจจริง หรือพูดเพื่อให้ได้รับสิ่งที่เขาอยากได้
แล้วก็ลองหยั่งตัวเองดูนะ ว่าถ้าเราไม่ต้องยกเรื่องของคำสัญญามาเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ชีวิตเราจะเบาขึ้นไหม อิสระขึ้นไหม ถ้าใช่ เราก็อาจต้องพิจารณาแล้วล่ะ ว่าคำสัญญาสำคัญจริงหรือ หรือแค่ทำปัจจุบันให้ดี ก็ดีพอแล้วสำหรับเรา
คำสัญญาทำให้เรารักษาบางสิ่งเอาไว้ได้ และก็ทำให้บางสิ่งจากเราไปตลอดกาลได้ด้วยเช่นกัน
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand