จำได้ว่าจิตวิทยา 101 สมัยเรียนเป็นวิชาพื้นฐานตอนปี 1 มีการพูดถึงโรคหลงตัวเองซึ่งเราก็เข้าใจจากชื่อโรคแค่คำเดียวแบบแคบๆ แต่พอประเด็นแอมเบอร์ เฮิร์ตกับจอห์นนี่ เดปป์ปะทุขึ้นมา ทำให้สื่อทั่วโลกและนักจิตวิทยาออกมาวิเคราะห์บุคลิกแบบ narcissistic จนเราเห็นภาพคนกลุ่มนี้กระจ่างมากขึ้นและมันเป็นตัวต้นเหตุของ toxic relationship ที่เราเจอๆ กัน อ๋อ…คนพวกนี้เองที่เป็น “นาร์ซิซิสต์” ไม่ใช่แค่คนขี้โม้อวดตัวอย่างที่เข้าใจ แต่ความแยบยลในการครอบงำมันช่างล้ำลึกเหลือกำหนด เจ็บเพราะความรักหรือมีคนใกล้ตัวแบบนี้อยู่ตั้งนาน และเรายังปล่อยให้เขามาทำร้ายใจเราอย่างไม่มีชิ้นดี
ต่อให้เป็นผู้หญิงเก่งหรือฉลาดแค่ไหน ก็อาจจะตกอยู่ในวังวนหลุมพรางเวลาที่คบกับนาร์ซิซิสต์ตัวพ่อ เพราะเขาจะค่อยๆ ใส่ยาพิษทางความคิดแบบที่เราไม่มีทางรู้ตัว คลีโอหาข้อมูลจนได้ไปเจอกับคำอธิบายของนักจิตวิทยาบำบัดอย่าง บรี บอนเชย์ ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์กับคนที่มีบุคลิกหลงตัวเองแบบนี้ เพราะในพ็อดแคสต์ที่เธอก็ยอมรับว่าเคยคบกับคนเหล่านี้ในเวลาสั้นๆ จนทำให้เกิดความหลอนแล้วกลัวไปเลย รวมทั้งเจอคนที่เข้ามาปรึกษาหลายเคสจนรวบรวมไว้ในหนังสือ I Am Free: Healing Stories About Surviving Toxic Relationships With Narcissists and Sociopaths แล้วก็ไม่ใช่ผู้ชายที่เป็นอย่างเดียวนะ ผู้หญิงหลายคนก็ไปกดขี่ผู้ชายเหมือนกัน โดยรูปแบบการข่มเหงไม่ใช่แค่ใช้กำลังที่เป็นรูปธรรมชัดๆ แต่จะมาเป็นความรุนแรงทางอารมณ์ ทางเพศ การพึ่งพาด้านการเงิน การควบคุมและทำให้เราเริ่มตรรกะเสีย เช่น
- มาคุมการเงินของเรา: ให้เราออกเงิน หรือเอาเงินเราไปคุมเองทั้งหมด คนหาเงินไม่มีสิทธิ์ใช้ หรือบังคับให้เราอยู่บ้านไม่ต้องทำงาน ควบคุมการใช้จ่ายของเราทุกบาททุกสตางค์
- ดึงเราออกจากครอบครัวและกลุ่มเพื่อน: เขาจะเริ่มหงุดหงิดเวลาเราใช้เวลากับเพื่อนหรือครอบครัว เวลาทุกนาทีต้องอยู่กับเขาเท่านั้น
- ป่นปี้คุณค่าในตัวของเรา: พูดให้เรารู้สึกอายหรือรู้สึกต่ำลง วิจารณ์ว่าเป็นแฟนที่ไม่ดี ถ้าแต่งงานมีลูกพวกนี้ก็จะพูดว่าเราเลี้ยงลูกไม่ดี เป็นแม่ที่แย่
- บังคับให้เรามีเซ็กซ์ที่ไม่อยากมี บังคับไม่ให้เราออกไปไหน ไปจนถึงมอมเมาเราด้วยสิ่งต่างๆ
บรีสรุปว่าการไปคบกับนาร์ซิซิสต์ เราจะเริ่มจากรักสุดเพอร์เฟ็กต์ เขาดีไม่มีที่ติ สวีทสุดขั้วแล้วพาเราไปจบที่รู้สึกว่าชีวิตนี้ทำเท่าไหร่ก็ไม่มีวันดีพอ เราให้ทุกอย่างแล้วเขาก็เอาไปหมด เขาให้ความรักและสิ่งต่างๆ น้อยลงๆ รู้ตัวอีกทีข้างในมันสูญสิ้นทั้งอารมณ์ สภาพจิตใจ เงินทองแล้วยังโดนโทษว่าเป็นความผิดของเราเองอีก ประเด็นสำคัญคนที่ต้องอยู่กับนาร์ซิซิสต์จะไม่ค่อยรู้ตัว ถ้าได้มาอ่านเรื่องนี้อยากให้ทุกคนสังเกตสัญญาณเหล่านี้เอาไว้
“สิ่งที่เราเคยเชื่อว่าถูก แต่เริ่มเคลิ้มตามว่าเอ๊ะ หรือเราผิด?”
เมื่อไหร่ที่เราเริ่มสงสัยในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจอะไร ไม่เชื่อในตัวเองว่าฉันคิดถูกหรือเปล่า แต่เขาบอกว่ามันผิด ฟังๆ เขาไปเรื่อยๆ ฉันผิดจริงด้วย นาร์ซิซิสต์จะฉวยจังหวะนี้วิจารณ์เรา เอาความคิดเขามาครอบงำซึ่งถ้าไม่สังเกตจะจับสัญญาณนี้ยากมากๆ บางครั้งอาจรู้ตัวจากมีเพื่อนดีๆ มาดึงสติไว้ หรือบางครั้งก็เสียทุกอย่างไปแล้ว เราเพิ่งมาคิดได้ก็มี
“ควบคุมชีวิต”
เขาจะบอกว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ค่อยๆ บอกว่าเธอดีเกินจะคบเพื่อนกลุ่มนี้นะ คนพวกนี้เอาเปรียบเธอตั้งหลายอย่าง พ่อแม่เธอทำไมถึงทำแบบนี้ เขาจะคอยตั้งคำถามให้เราเข้าใจอะไรผิดกับคนอื่น เริ่มพูดให้เรากังวล กลัว ไม่ไว้ใจคนรอบข้าง
“โทษว่าเป็นความผิดเราทุกอย่าง”
ถ้าเราโกรธสิ่งที่เขาทำเมื่อไหร่ เขาจะหาทางทำให้เป็นความผิดของเรา บอกว่าเราเซนซิทีฟเกินไป เว่อร์เกินเหตุ มโนไปบ้าง หรือถ้าเขานอกใจ เขาก็จะบอกว่าประมาณว่าถ้าเธอไม่ทำแบบนี้…เขาก็คงไม่ต้องนอกใจหรอก มุกนี้คุ้นมากกกกก ก็ถ้าเราไม่ดี ทำไมไม่บอกกันหรือให้โอกาสแก้ไข เข้ากันไม่ได้ เลิกกันไปยังดีกว่า นอกใจก็คือส่วนที่เธอทำผิดจ้า นี่เลยเป็นสาเหตุใหญ่ๆ ที่คนโดนไม่ค่อยรู้ตัว จากจะไฝว้ กลายเป็นคนยอมรับผิดเฉยเลย
“เราไว้ใจนาร์ซิซิสต์อย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น”
ต้องยอมรับว่าการจะทำให้คนเชื่อใจได้ นาร์ซิซิสต์ต้องพยายามอย่างหนัก มีเคสหนึ่งของบรีที่เล่าว่าเธอจำไม่ได้ว่าคุณค่าในตัวเองคืออะไรมานาน ต้องออกห่างเพื่อนและครอบครัว เธอกลัวตัวเองไม่ปลอดภัย จากสาวที่จบปริญญาโท แต่พอมีลูก เขาให้เธอออกจากงานพึ่งพาค่าใช้จ่ายจากเขา ใช้ชีวิตที่ดูภายนอกเหมือนไม่มีอะไร แต่เขาวางกับดักคำโกหกเอาไว้ครบทุกด้าน เธอไม่กล้าบอกเลิก กลัวการเริ่มต้นใหม่ คิดว่าอยู่กับเขาแบบนี้คงดีกว่า แต่ก็เหมือนอยู่แบบนักโทษ สุดท้ายก็พบความจริงว่าความรักไม่ควรต้องทุกข์และเจ็บขนาดนี้ มันยากมากที่จะออกมาจากความสัมพันธ์ครั้งนั้น
คำแนะนำเดียวของบรีคือ “หนีไปค่ะ!” หนีไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าคิดว่าจะเอาเหตุผลมาพูดกับคนที่เป็นนาร์ซิซิสต์ แค่ออกมาให้เร็ว แล้วไปดูแลตัวเองเถอะ อย่าหันหลังกลับมามองเด็ดขาด ชีวิตที่สวยงามและมีค่า ไม่ควรต้องให้เหตุผลว่าแต่เขาเคยดีกับเรานะ เห็นกับความผูกพันที่มีมา หรือจะช่วยอะไรเขาได้มั้ย ไม่มีประโยชน์ เพราะนาร์ซิซิสต์เหมือนจะเป็นคนที่ดูมั่นใจ แต่เอาเข้าจริงๆ เขานั่นแหละที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง มีปัญหาในการจัดการกับสิ่งที่เจอ เห็นอะไรก็ตำหนิติเตียนไปหมด เพราะเขาต้องการเป็นที่สนใจมากๆ และอยากเหนือกว่าคนอื่น เลยคิดหาวิธีมาควบคุมเราไง และนาร์ซิซิสต์ก็ไม่ได้มาในรูปแบบแฟน สามีภรรยาเท่านั้นนะ หัวหน้า คนในที่ทำงานหรือคนที่เราเข้าใจว่าเป็นเพื่อนก็มีบุคลิกนี้ได้หมด
ดังนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่เราปวดร้าวมากและเครียดเรื้อรัง อาจสงสัยได้ว่าเจอภาวะ PTSD อาการป่วยทางจิตหลังจากเจอเหตุการณ์ที่มากระทบใจรุนแรง ต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญขอคำปรึกษาหรือเรียกความมั่นใจและคุณค่ากลับมาเลยทีเดียว อย่าได้พบได้เจอกันอีกเลยคุณนาร์ซิซิสต์