ถือเป็นอีกเรื่องนึงเลยที่สำคัญสำหรับผู้หญิงเราไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ วัยไหนก็ตาม คือเรื่อง การคุมกำเนิด นั่นเอง รู้ไว้ไม่เสียหายเพราะการคุมกำเนิดไม่ใช่สิ่งที่น่าอายหรือน่ากลัวเสมอไปนะ บางคนที่อาจจะกังวลอยู่ว่าจะคุมกำเนิดแบบไหนดี ในบทความนี้คลีโอได้รวบรวม วิธีคุมกำเนิด ผู้หญิงในปัจจุบันรวม 10 วิธี เรียงจากโอกาสในการตั้งครรภ์มาก – น้อย พร้อมข้อดีและข้อเสีย จัดมาสรุปแบบเน้นๆ เข้าใจง่าย
1. การนับระยะปลอดภัย
“หน้า 7 หลัง 7” หน้า 7 คือ 7 วัน ก่อนวันที่ประจำเดือนมา หลัง 7 คือ 7 วัน หลังจากวันแรกที่มีประจำเดือน เพื่อให้ทราบว่าช่วงเวลาใดของเดือนที่มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยที่สุด
ข้อดี
- เป็นการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้ยาหรืออุปกรณ์ใดๆ เป็นทางเลือกของผู้หญิงที่อาจมีปัญหาในการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น แพ้ถุงยางอนามัย แพ้ยาคุม
- ไม่มีการใช้ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลง
ข้อเสีย
- ความเสี่ยงสูง ต้องอาศัยความแม่นยำ ไม่เหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาไม่แน่นอน หรือช่วงที่อารมณ์เครียดแปรปรวน เพราะทำให้ประจำเดือนมีโอกาสคลาดเคลื่อน
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 75%
2. ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง
มีลักษณะบาง ทำจากยางหรือวัสดุอื่น ๆ คล้ายกับถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย แต่มีวงแหวน 2 ด้าน ใส่ด้านที่เป็นวงแหวนปลายปิดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไป
ข้อดี
- ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ สวมใส่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ได้นานถึง 8 ชั่วโมง
- เมื่อหยุดใช้ ก็สามารถมีลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ
- มีความทนทานมากกว่าถุงยางอนามัยชาย
- ไม่มีผลต่อสุขภาพและต่อภาวะการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เพราะไม่เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย
ข้อเสีย
- หาซื้อได้ไม่สะดวกเท่าถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย และราคาแพงกว่า
- อาจทำให้ความรู้สึกในขณะร่วมเพศลดลง ถุงยางอาจรั่ว/แตก ได้
- ถุงยางอาจมีสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง จนทำให้เกิดอาการคันได้ และในบางรายอาจทำให้มีตกขาวได้
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 79 %
3. ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย
มีลักษณะบาง ทำจากยางหรือวัสดุอื่น ๆ ใช้สวมที่อวัยวะเพศชายขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไปในช่องคลอดจนเกิดการตั้งครรภ์
ข้อดี
- หาซื้อได้ง่าย มีขายตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไป
- เมื่อหยุดใช้ ก็สามารถมีลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ
- ไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงหรือผลของฮอร์โมนเหมือนยาคุมกำเนิดชนิดกินหรือฉีด
ข้อเสีย บางคนเชื่อว่าการใช้ถุงยางอนามัยอาจทำให้ความรู้สึกในขณะร่วมเพศลดลง หรือถุงยางอาจรั่ว/แตก และอาจเกิดอาการแพ้จากวัสดุที่ใช้ผลิตถุงยางอนามัยได้
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 85 %
4. ฝาครอบปากมดลูก
มีลักษณะเป็นแผ่นยืดหยุ่นได้ อาบด้วยน้ำยาฆ่าอสุจิ ใส่ปิดบริเวณปากมดลูก เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเคลื่อนตัวผ่านไปยังมดลูก
ข้อดี คือ เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน เช่น ยาเม็ด ยาฉีด ยาฝัง รวมถึงแผ่นแปะคุมกำเนิด โดยช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุด 24 ชั่วโมง
ข้อเสีย คือ หากใช้งานเกินกว่า 48 ชั่วโมง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด ระคายเคืองช่องคลอด และอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการท็อกสิกช็อก ซึ่งอาจพบได้น้อยแต่ก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งน้ำยาฆ่าอสุจิอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในผู้ใช้บางราย และหากใช้บ่อยครั้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ได้เช่นเดียวกัน
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 88%
5. ยาคุมฉุกเฉิน
เป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ถุงยางรั่ว ถูกข่มขืน หรือลืมรับประทานยาคุมกำเนิดตามปกติ เป็นต้น ป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการยับยั้งการตกไข่ชั่วคราว ป้องกันการปฏิสนธิ หรือไม่ให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวในมดลูก
ข้อดี ยาคุมฉุกเฉินลีโวนอร์เจสเตรลสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และออกฤทธิ์ป้องกันได้สูงสุด 3 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ส่วนยาคุมฉุกเฉินอัลลิพริสตัล อซิเตท ออกฤทธิ์ป้องกันได้สูงสุด 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
ข้อเสีย
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีผลข้างเคียงสูงมาก ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะออกฤทธิ์ต่อสภาพแวดล้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก จึงมีผลต่อฮอร์โมนและทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวผู้ใช้ เช่น มีประจำเดือนผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน และหากกินบ่อยๆ อาจมีผลกับร่างกาย เช่น เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกได้
- ไม่สามารถป้องกันโรคจากเพศสัมพันธ์ได้
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้ยาหลังมีเพศสัมพันธ์
6. ทานยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวม
ยาเม็ดคุมกำเนิดที่เป็นแผง มีส่วนประกอบของฮอร์โมนรวมสองชนิด ได้แก่ เอสโตรเจนและโปรเจสติน ซึ่งยับยั้งการตกไข่และทำให้อสุจิเคลื่อนที่ยากขึ้น ส่วนใหญ่มีแบบ 21 เม็ด และ 28 เม็ด
ข้อดี
เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ไม่ชอบวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่นๆ ที่ต้องใส่หรือฝังภายในร่างกาย และช่วยบรรเทาความรุนแรงของกลุ่มอาการประจำเดือน
ข้อเสีย
- เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคัดเต้านม ท้องอืด ปวดศีรษะ ตัวบวมน้ำ มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
- ต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดให้ตรงเวลาและเป็นประจำ
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 92 %
7. แผ่นแปะคุมกำเนิด
มีลักษณะเป็นแผ่นใช้แปะลงบนผิวหนัง โดยแผ่นแปะคุมกำเนิดจะปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินออกมา ส่งผลต่อการตกไข่และประสิทธิภาพในการฝังตัวของไข่ รวมถึงทำให้มูกช่องคลอดข้นขึ้นจนอสุจิเคลื่อนตัวเข้าไปได้ยาก ผู้ใช้ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดใหม่ทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่องนาน 3 สัปดาห์ และหยุดใช้แผ่นแปะ 1 สัปดาห์ ในระหว่างที่ประจำเดือนมา
ข้อดี
- ใช่งานง่าย
- ลดความเสี่ยงการเกิดซีสต์ในรังไข่และโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งลำไส้
- ประจำเดือนมาสม่ำเสมอและช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
ข้อเสีย
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บเต้านม อารมณ์แปรปรวน ท้องเสีย การแข็งตัวของเลือด ติดเชื้อในช่องคลอด
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด เป็นการคุมกำเนิดรูปแบบใหม่และยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่เพียงพอ แต่มี ประสิทธิภาพสูงกว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
8. การฉีดยาคุมกำเนิด
เป็นการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของสตรีในระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด หลังจากฉีดตัวยาจะค่อย ๆ ขับฮอร์โมนออกมา เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในผู้ที่ต้องการเว้นระยะการมีบุตร
ข้อดี
- สะดวก ใช้งานง่าย ฉีดครั้งเดียวก็สามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 3 เดือน และช่วยคุมกำเนิดได้สูงสุด 1 ปี นับจากการฉีดยาคุมกำเนิดครั้งสุดท้าย ขึ้นอยู่กับชนิดของยาคุมกำเนิดที่ใช้
- สามารถใช้ได้ดีในขณะให้นมลูก เพราะไม่ทำให้น้ำนมแห้ง
ข้อเสีย
- เกิดผลข้างเคียง เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติคลื่นไส้ ปวดศีรษะ รู้สึกซึมเศร้า
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มากะปริดกะปรอย หรือไม่มีประจำเดือน
- เมื่อหยุดฉีดร่างกายจะยังไม่พร้อมมีลูกได้ทันที (มีลูกได้ช้ากว่าการคุมกำเนิดแบบอื่น)
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 97%
9. การฝังยาคุมกำเนิด
เป็นการใช้ฮอร์โมนชนิดเดียว คือ โปรเจสติน (Progestin) ที่บรรจุเอาไว้ในหลอดหรือแท่งพลาสติกเล็ก ๆ นำมาฝังเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขน
ข้อดี
- มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ไม่ต้องกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำทุกเดือน
- สามารถฝังและนำออกได้ตามต้องการ แม้ยังไม่หมดอายุการใช้งานก็นำออกได้
- เมื่อนำยาคุมออกแล้ว สามารถเริ่มวางแผนมีบุตรได้ทันที
- ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน รอบเดือนอาจมีระยะเวลาสั้นลงหรือไม่มาเลย
- ไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงไม่เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวนง่าย เหมือนกับการกินยาเม็ดคุมกำเนิด
ข้อเสีย
- อาจมีผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงมากหลังฝังยาคุม เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกเจ็บหน้าอก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้
- อาจเกิดสิว หรือทำให้มีปัญหาสิวเพิ่มขึ้น
- ไม่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด มากกว่า 99%
10. การทำหมันหญิง
เป็นการผูกท่อนำไข่ ทำให้อสุจิไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้าสู่มดลูกได้
ข้อดี
- เป็นวิธีการคุมกำเนิดถาวรรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง
- ไม่ส่งผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสตินในร่างกาย เมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ๆ ยังคงมีอารมณ์ทางเพศได้เหมือนเดิม อารมณ์ไม่แปรปรวน และประจำเดือนยังคงมาตามปกติ
- ไม่มีผลต่อการให้นมบุตร
ข้อเสีย
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งเชื้อ HIV ได้
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
- มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูง หากเกิดความล้มเหลวของวิธีการทำหมัน
- เมื่อเทียบกับการทำหมันชาย จะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า
ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด มากกว่า 99%
อ้างอิงข้อมูลจาก
Medthai.com / pharmacy.mahidol.ac.th / pobpad.com / hellokhunmor.com