สำหรับบางคน ความสัมพันธ์ที่แน่นอนหรือการที่ต่างฝ่ายต่างมีการผูกมัดอาจเป็นความสบายใจของพวกเขา เพราะว่าอย่างน้อยก็มีที่พักพิง ไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามในความสัมพันธ์ในทุก ๆ วัน แต่สำหรับบางคน เขาก็แฮปปี้กับความชิลล์ ๆ นะ เผลอ ๆ ชอบมากด้วยล่ะ และพวกเขาเหล่านี้ก็มักจะคิดว่า การไป commit ในความสัมพันธ์เป็นอะไรที่น่ากลัว หรือจะเรียกว่า ‘กลัวการผูกมัด’ กับใครก็ได้นะ บางคนพอเริ่มได้คุยกัน คุยไปคุยมาก็รู้สึกดี แต่พอจะเลื่อนขั้นความสัมพันธ์เท่านั้นแหละ ใส่เกียร์วิ่งหนีทันที พร้อมออกห่างแบบไม่ต้องคิด
และมันมีอยู่จริง ๆ นะคนที่เป็นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะเขารักสนุกไม่อยากคบใครจริงจัง แต่เขาไม่สามารถเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ได้ต่างหาก จะว่าเป็นความกลัวก็ไม่ผิดนะ และความกลัวนี้มันมีอยู่จริง ๆ นะ มันเรียกว่า ‘โรคกลัวการผูกมัด’ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่คิดว่าเอ๊ะ หรือฉันจะเป็นโรคนี้อยู่นะ ลองมาเช็คอาการกัน ใครจะรู้ คุณอาจเป็นคนที่กลัวการผูกมัดอยู่ก็ได้
ขอเริ่มจากสาเหตุของอาการนี้ก่อนแล้วกัน ส่วนใหญ่คนที่กลัวการผูกมัดมักจะมีความหลังในอดีตของความสัมพันธ์ที่ฝังใจ โดนนอกใจบ้างล่ะ เป็นชู้เขาบ้างล่ะ หรือคุยอยู่ดี ๆ เขาก็หายไปเลยจนไม่กล้าคุยกับใครอีกก็มี หรือถ้าไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์เก่า ๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องปมครอบครัวที่ฝังใจ พ่อแม่เลิกกัน หรือมีครอบครัวที่อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่สมบูรณ์ก็ได้
นอกจากเรื่องปมหรือเรื่องราวความสัมพันธ์ในอดีต ก็อาจจะเป็นเพราะความไม่มั่นใจที่เรามีต่อตัวเองก็ได้นะ เราอาจจะไม่มั่นใจในร่างกาย หรือหน้าตาของตัวเอง จนแอบเผลอคิดว่า คงไม่มีใครมารักฉันหรอก จากนั้นก็ไม่ให้ใครเข้ามาอีกเลย รวมไปถึงความขี้รำคาญของเราเองนี่แหละ ถ้าฉันมีแฟนหรือฉันคุยกับใครแล้วมันจะแย่จะไหมนะ จะมีอะไรผิดผลาดไหมนะ อะไรแบบนั้นก็ได้นะ
หรืออาจจะไม่ใช่สาเหตุที่พูดมาทั้งหมดก็ได้เหมือนกัน มันอยู่ที่ความรู้สึกในใจและการใช้ชีวิตของเราล้วน ๆ เลยเรื่องนี้ ไม่พูดเยอะแล้วกัน งั้นลองมาเช็คอาการกันเลยดีกว่า บางทีเราอาจจะ กลัวการผูกมัด โดยไม่รู้ตัวอยู่ก็ได้นะ ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลย
พูดเรื่องความสัมพันธ์ทีไรแพนิคตลอด
คุยกันไปเรื่อย ๆ ทุกวันก็สบายใจดีอยู่แล้ว แต่ถ้าอีกฝ่ายขอขยับเลื่อนขั้นเมื่อไหร่นี่ล่ะ หนีก่อนเลยทันที เครียดไปแล้วต่าง ๆ นานา กลายเป็นแพนิคไปเลย อาจไม่จำเป็นต้องโดนขอเองก็ได้นะ บางครั้งแค่ได้ยินคุยคนกันเรื่องนี้หรือมีเรื่องความสัมพันธ์ในบทสนทนาที่มันค่อนข้างตึงหรือว่าจริงจังก็แพนิคได้เหมือนกัน
คุยมานาน แต่เหมือนย่ำอยู่ที่เดิม
บางคนคุยมาเป็นปี ๆ แต่ดูเหมือนความคืบหน้าไม่ไปไหน ยังย่ำอยู่ที่เดิม เพราะไม่อยากสานต่อให้ลงลึกกว่าเดิม อยู่แบบนี้ก็ดีแล้วหนิ
ในแพลนของเธออาจไม่มีฉันนะ
“ไว้ถ้าเราแต่งงานกัน แล้วไปเที่ยวที่นี่กันนะ” “ไว้รอมีลูกแล้วซื้อให้ลูกนะ” ได้ยินก็ขนลุกแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นแพลนเกี่ยวกับอนาคตเรื่องความสัมพันธ์ก็ขอบายทันที ฉันไม่เอาด้วยคนนะ
พร้อมเททันทีถ้าไม่โอเค
คุยได้คบได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำให้ฉันไม่โอเค เหนื่อย หรือเสียใจเมื่อไหร่ ฉันไปทันทีเลยนะ และ
พวกเขาเเหล่านี้พร้อมไปจริง ๆ นะ อะไรที่ไม่โอเคก็ไม่ทนหรอก ถ้าเป็นแบบนี้ขออยู่กับตัวเองดีกว่า
จัดการวางแผนอนาคตตัวเองไว้ดีตลอด
อีกอาการหนึ่งของคนที่กลัวการมูกผัด พวกเขาจะเป็นคนที่ชอบวางแผนชีวิตตัวเองให้อยู่แพลนเสมอ ไม่มีขาดตกบกพร่อง ทุกอย่างต้องเป๊ะ เพราะฉะนั้นใครที่จะเข้ามาแล้วทำให้แพลนของพวกเขาพังก็เชิญออกจ้า
จริง ๆ อาการทั้งหมดทั้งมวลที่ว่านี้ก็ไม่ใช่อาการตายตัวนะ บางคนออกอาการทางร่างกายก็มี เหงื่อไหล หัวใจเต้นแรง นอนไม่หลับ หรือเครียดจนอาเจียนก็มีเหมือนกัน มันอาจะเป็นการกลัวที่ไม่ได้น่ากลัวเท่าอาการกลัวอื่น ๆ แต่บางครั้งมันก็มารับกวยจิตใจเราได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าใครเข้าข่ายว่าเป็นอาการนี้ ลองลายใจลึก ๆ และค่อย ๆ คิดเป็นสเต็ป เอาแค่ที่อยู่ตรงหน้าเราก่อน อย่าเพิ่งไปไกลถึงอนาคต หรือถ้าใครที่เดทอยู่ก็ลองเปิดใจคุยกับคู่ตัวเอง เคลียร์ความต้องการของแต่ละฝ่ายให้รู้เรื่อง บางอย่างอาจจะไม่ได้ตึงเครียดขนาดนั้น ใจดีกับตัวเอง ค่อย ๆ เข้าใจความรู้สึกตัวเอง เดี๋ยวก็ดีขึ้นนะ
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand