Reasons to Stay Alive หรือฉบับไทยชื่อว่า แด่ผู้แหลกสลาย เขียนโดย Matt Haig นักเขียนหนังสือผลงานดังอย่าง Midnight Library ที่หลายคนน่าจะรู้จัก เขาเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หนักถึงขั้นที่ว่าเราอ่านหนังสือของเขายังรู้สึกถึงพลังงานนั้นผ่านตัวหนังสือได้เลย
แมตต์เล่าเอาไว้ใน Reasons to Stay Alive ในช่วงเวลาที่เขารู้สึกว่าตัวเองป่วยจริงจังแล้วล่ะ เขาอายุ 24 ปี แล้วกำลังอยู่ในที่ๆ สวยระดับที่เป็นเกาะในฝันของใครหลายๆ คน อิบิซา ประเทศสเปน แมตต์อยู่ในภาวะสิ้นยินดี ไม่อยากทำอะไร หรือกินอะไร พูดอะไร “ผมไม่ได้อยากตาย แค่ไม่อยากมีชีวิตอยู่”
เนื้อหาต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของความตาย ไม่เหมาะกับผู้ที่สภาพจิตใจอ่อนไหวนะคะ
คุยกับตัวเอง
เขาคุยกับตัวเอง ไม่แปลกหรอก ใครๆ ก็คุยกับตัวเองกันทั้งนั้น แต่บทสนทนานั้นมันวนไปวนมาอยู่ในอ่างแห่งความคิดเกี่ยวกับเรื่องความตาย เขาอธิบายความไม่เข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและความตายเอาไว้ว่า การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคอื่นจะไม่ทำ แต่ผู้คนกลับยังคิดว่าโรคซึมเศร้า ไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น
แมตต์รู้สึกอะไรหลายอย่างระหว่างทาง รวมทั้งรู้สึกว่ายาไม่ได้ช่วยอะไร ทุกอย่างอัดแน่นอยู่ในหัวของเขา และไม่รู้เหมือนกันว่ามันเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่แมตต์เคยดื่มหนักมากๆ ถึงขั้นเมาค้างไปสัมภาษณ์งานเลยล่ะ เราจะไม่ตัดสินว่าเหล้าเป็นเจ้าตัวร้าย แต่การไม่รู้ลิมิตของมนุษย์ต่างหาก ที่ร้ายแรง
แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด แมตต์ผ่านวัยเด็กที่มีครอบครัวที่ดี ส่วนสังคมเพื่อนจะเรียกว่าแปลกได้ไหมนะ แบบที่พบเห็นได้ทั่วไป เด็กแกล้งกันในโรงเรียน เขาพยายามจะไม่เป็นตัวเอง หลายสิ่งทำให้รู้สึกแปลกแยกและสะสมอัดแน่นมาแสนนาน
คำว่าแหลกสลายอาจใกล้เคียงที่สุด
ถ้าใช้คำว่า ‘แหลกสลาย’ อธิบายอาการของแมตต์ในช่วงที่ป่วยหนักคงจะไม่ผิดเท่าไหร่ ใครได้อ่าน Reasons to Stay Alive จะเข้าใจได้ว่าไม่เกินจริง แมตต์ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพที่คนเป็นโรคซึมเศร้าเห็นได้ชัดขึ้น อย่างเช่น เขา ‘รู้สึกเหมือนล้มทั้งที่ยืนนิ่ง’ ‘เศร้าอย่างไร้ที่สิ้นสุด’ หรือ ‘ต้องการหยุดเป็นตัวเอง’ เป็นต้น นี่คือแค่ตัวอย่างอาการที่แมตต์อธิบายเป็นตัวหนังสือได้
ในช่วงหนึ่งแค่เดินไปซื้อของในถนนถัดไปไม่กี่ช่วงตึก มันเหมือนเขาต้องใช้ความพยายามเท่ากับการตัดใจเล่นพาราชู้ดยังไงอย่างงั้น
สิ่งที่คลีโอก็สงสัยและแมตต์ตอบเอาไว้ในหนังสือ
ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไปก็ได้นะ แต่เราสงสัยว่าทำไมถึงได้ยินข่าวผู้ชายฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้าบ่อย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ประมาณการอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายล่าสุด ระหว่างปี 2000-2019 ผู้คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 4 และผู้ชายเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า และอัตรานี้จะสูงกว่าในประเทศที่มีรายได้สูง
อาจจะด้วยความเชื่อของความเป็นชาย ต้องเข้มแข็ง ไม่อ่อนไหว หรืออ่อนแอ พวกเขาอาจลังเลที่จะขอความช่วยเหลือแม้จะเป็นนาทีสุดท้ายก็ตาม
อาการที่อาจบ่งชี้ว่าใช่
แมตต์บอกว่าบางคนสับสน ‘ซึมเศร้า‘ กับ ‘เศร้า’ และมันไม่ใช่โรคที่มีอาการอย่างหวัด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ มันเป็นเหมือนโรคที่ล่องหน คนๆ นั้นอาจจะรู้สึกแย่กับอะไรบางอย่าง แต่มันก็ดันไปปนกับเรื่องอื่น ผสมๆ กับความเหนื่อยล้าไม่รู้จะบอกใครได้บ้าง
‘ความเหนื่อยล้า’ แบบไม่มีสาเหตุชัดเจน
‘เชื่อมั่นในตัวเองต่ำ’ สังเกตได้ยาก คนบางคนก็ไม่สะดวกใจจะพูดถึงความรู้สึกของตัวเองและพอไม่ค่อยเชื่อตัวเองก็พาลจะไม่ค่อยอยากเจอใคร
‘ทำอะไรช้าลง’ คิดช้า เคลื่อนไหวช้า พูดช้า
‘เบื่ออาหาร’ หรืออาจจะอยากอาหารมากกว่าปกติ
‘หงุดหงิดง่าย’
‘ร้องไห้บ่อย’
’ภาวะสิ้นยินดี’ ไม่เพลิดเพลินกับอะไรแม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่เคยชอบมาก
‘เก็บตัวกะทันหัน’ จู่ๆ ก็พูดน้อยลง แมตต์บอกว่ามีบางครั้งที่เขาเองก็พูดอะไรไม่ออก เหมือนลิ้นเปลี้ยไปเลย และก็รู้สึกว่าพูดไปก็ไม่มีประโยชน์
บางครั้งคนๆ หนึ่งอาจจะต้องการความช่วยเหลือแม้เขาจะไม่ได้พูดออกมา หรือยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นอะไร อาการหลายอย่างสังเกตได้ในคนใกล้ชิดเท่านั้นแหละ เราจะรู้เลยว่าปกติเขาพูดมากกว่านี้ แต่ทำไมอยู่ดีๆ เงียบไปเลย ไม่ใช่เงียบจากการช็อคหรือเหนื่อยจะพูดบางครั้งบางคราว แต่เป็นเงียบไปเหมือนกลายเป็นอีกคน โรคซึมเศร้าไม่ได้ต้องการแค่ยา หรือว่าการบำบัด แต่คนรอบข้างต้องเป็นพลังที่พร้อมจะสู้ไปกับเขา
ความรักคือยาที่จะช่วยฆ่าโรควิตกกังวลที่มักจะมาพร้อมกับโรคซึมเศร้าราวกับฝาแฝด “การมีคนที่รักคุณและคุณรักอยู่ด้วย ช่วยได้มาก รักคือทัศนคติต่อการใช้ชีวิต และรักช่วยเราได้”
เราจะอยู่ข้างเขาอย่างไรดี?
คนป่วยซาบซึ้งใจเสมอ แม้จะไม่ต้องการ เขาต้องการคนที่รับฟัง รับฟังอย่างไม่ตัดสินและอย่าพูดว่านี่คือเรื่องปกติ ใครๆ ก็เป็น หรือ ร่าเริงหน่อย อะไรแบบนั้นเลย เขาอาจจะพูดอะไรออกมาเหมือนว่านี่ไม่ใช่ตัวเขาที่เรารู้จักเลย เข้าใจว่าเขากำลังป่วย อาจไม่ได้หมายความอย่างที่พูด อย่าเก็บมาคิดมาก ถ้าเป็นไปได้ อย่าทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าแปลกแยกมากกว่าที่เป็นอยู่ ในทุกเรื่องที่เขาทำหาเวลา พยายามทำความเข้าใจ ว่าสิ่งที่มองว่าง่าย มันกลายเป็นเรื่องยากไปแล้ว อดทนกับอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แล้วยอมรับสภาพปัจจุบัน แค่อยู่ข้างๆ กันก็พอ ถ้าการอยู่กับคนป่วยมันหนักเกินไปบางครั้งก็ไปผ่อนคลายความเครียดบ้างเถอะ
วิธีใช้ชีวิตจาก Matt Haig 10 จาก 40 ข้อที่เราว่าดีมาก
1.ใจดีกับตัวเอง ทำงานให้น้อยลง นอนให้มากขึ้น
2.“การอ่านและการเขียนเป็นวิธีฝึกสมาธิที่บำรุงจิตใจได้ดีที่สุดเท่าที่ใครเคยพบ” – เคิร์ต วอนเนกัด (อ่านไปเถอะ ดื่มด่ำกับมัน อย่าหวังว่าจะจบหรือไม่มีวันจบ)
3.มีเมตตาและใจดีกับคนอื่น
4.ใช้ชีวิตอยู่กับต้นไม้
5.อย่ากังวลถึงสิ่งที่อาจจะไม่เกิดขึ้น
6.ไม่ต้องให้คนทั้งโลกเข้าใจคุณ บางคนไม่เข้าใจสิ่งที่ไม่เคยเจอกับตัว ขณะที่บางคนเข้าใจได้
7.ตีสามไม่ใช่เวลาที่เหมาะแก่การทบทวนชีวิต
8.อย่ากังวลกับเวลาที่คุณหมดเปลืองไปกับความสิ้นหวังเลย ช่วงเวลาหลังจากนั้นจะมีค่ามากขึ้นสองเท่าเชียวล่ะ
9.โปร่งใสต่อตัวเอง สร้างเรือนกระจกสำหรับจิตใจไว้ แล้วลองสังเกตมันดู
10.จงกล้าหาญ เข้มแข็งเข้าไว้ หายใจเข้าลึกๆ แล้วเดินหน้าต่อไป คุณจะนึกขอบคุณตัวเองทีหลัง
และข้ออื่นๆ เราอยากให้ทุกคนอ่านใน ‘แด่ผู้แหลกสลาย’ หรือเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษคือ Reasons to Stay Alive หากต้องการจะเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และมองโลกผ่านสายตาของ Matt Haig
หนังสือเล่มนี้จะให้อะไรคุณมากกว่า how to ทั่วไป เพราะเขาไม่ใช่ life coach ไม่ได้เก่งที่สุด มีชีวิตที่ดีที่สุด เขาแค่ได้ผ่านจุดหนึ่งของชีวิตมา จุดที่ใครก็ไม่อยากผ่านไป ขณะที่ใครหลายๆ คนกำลังพยายามผ่านมันอยู่ หรือคนส่วนหนึ่งไม่สามารถผ่านมันไปได้แล้ว อย่างน้อยถ้าเราไม่ใช่คนป่วย แต่เข้าใจอาการป่วยที่แสนจะซับซ้อนนี้บ้างสักเสี้ยวหนึ่งก็อาจจะช่วยให้ใครบางคนผ่านมันไปได้อย่างที่แมตต์ก็ได้ผ่านมาอย่างที่เขาเองก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นเหมือนกัน
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand