ความสัมพันธ์ที่หลากหลายบนโลกใบนี้ ถ้าเราแบ่งง่ายๆ เป็น ความสัมพันธ์เฮลธ์ตี้ สุขภาพดี บวกบวก กับความสัมพันธ์ตัวร้าย ไม่เฮลธ์ตี้ เสียสุขภาพจิต ที่หลายคนอาจจะแยกไม่ได้ว่าแบบไหนหรอถึงเรียกว่าดี แค่อยู่ด้วยกันทุกวันนี่ก็ดีแล้วไหม? แต่เอ๊ะ ทำไมไม่แฮปปี้เลย โอเคมาดูตัวอย่างกัน
ความต่างของสองทิศทางความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์เฮลธ์ตี้ มีส่วนผสมง่ายๆ คือ การสื่อสารที่เข้าใจ, ประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย, เป้าหมายที่ไปในทิศทางเดียวกัน, ทัศนคติที่เข้ากันไป, สัตย์ซื่อต่อกัน และความเห็นอกเห็นใจ
ในความสัมพันธ์รูปแบบนี้คือเราจะรู้สึกดีอย่างไม่หลอกตัวเอง รู้สึกดีไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรือมีคนรักอยู่ข้างๆ ด้วย ไม่กังวลหรือไม่ไว้ใจเมื่อเขาไม่ได้อยู่ในสายตา ต่างคนต่างมีขอบเขตความเป็นส่วนตัวเองและรู้สึกโอเค วางใจที่จะแสดงตัวตนจริงๆ ออกมา
แต่ถ้าเรารู้สึกว่าในความสัมพันธ์มันสร้างความขัดแย้งในอารมณ์เหลือเกินเลย จิตใจว้าวุ่น สร้างความรู้สึกที่ซับซ้อนจนเราพูดไม่ได้เต็มปากหรอกว่ามันดีจริงๆ ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นจากการที่หลายคนไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีควรจะเป็นยังไง คิดแค่ว่าความสัมพันธ์ก็คือความสัมพันธ์ มีไว้ก่อนก็แล้วกัน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าลึกซึ้งอะไรแค่ยึดเหนี่ยวจิตใจเอาไว้
ซึ่งมันจะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เมื่อแม้จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ แต่พอยกระดับความสัมพันธ์จากแฟนไปเป็นสามีและภรรยาแล้วคนเรามักจะยิ่งไม่กล้าที่จะบอกเล่ามันออกมา ทนอยู่กับความอึดอัดที่ทำลายจิตใจและอาจจะทำร้ายร่างกายด้วยซ้ำ รู้อีกทีคือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแทบตาย
ความจริงแล้วเราทุกคนสังเกตเห็นมันได้เท่าๆ กันทั้งนั้นแหละ ว่าคนแบบไหนที่มีความเสี่ยงจะเป็นส่วนผสมของความสัมพันธ์ที่ทำร้าย แต่ความยากคือคนเหล่านั้นมันจะซ่อนความเป็นคนช่างบงการ ขี้ดูถูกคน และใช้คำพูดร้ายๆ เอาไว้ภายใต้หน้ากากของคนจิตใจดีน่ะสิ แต่เมื่อไหร่ที่พวกเขารู้สึกว่ากำลังคุมเกมนี้ได้ล่ะก็ ถึงตอนนั้นก็มักจะสายไป
นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เรามักจะได้ยินเพื่อนหรือผู้ใหญ่บอกว่า “อย่ารีบร้อนในความรัก”
เพราะถ้าเรามองด้วยสายตาของคนกลาง ไม่ใช่คนคลั่งรักเราจะเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากลนั้นแน่ๆ อย่างแรกเลยคือคนที่ค่อนข้างใช้ความรุนแรงคือเขามีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ แต่เราจะไม่มีทางเห็นมันชัดๆ ในทันทีช่วงแรกๆ แต่มันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สังเกตง่ายๆ คือคนๆ นี้อาจจะบอกเราว่าควรแต่งตัวยังไงเพื่อให้ถูกใจเขาและดูไม่พอใจถ้าเราปฏิเสธที่จะทำตาม(เพราะเราก็มีความเป็นตัวเราอยู่เหมือนกัน)
ซึ่งปกติแล้วเราจะฟังแล้วสัมผัสได้ว่ามันคือความเป็นห่วงหรืออยากจะควบคุม ถ้าอยากจะแน่ใจว่าใช่ไหม ลองค่อยๆ ปรับตามเขาเจอกันครึ่งทาง ถ้าอีกฝ่ายเพิ่มดีกรีความเอาแต่ใจละก็เตรียมเป็นบาร์บี้ได้เลย
อีกแนวหนึ่งคือเรียกร้อง โดยเฉพาะเวลา ต้องการมีเวลาอยู่ด้วยกันตลอด ว่างปุ๊บชิดปั๊บ จนไปสู่การไม่ว่างก็ต้องชิด ซึ่งอาจจะปกติสำหรับคนหลายคู่ แต่จะมีปัญหาก็ตรงที่เวลาที่อยู่กับฉันมันคือทั้งหมด ทั้งหมดจนเราไม่มีเวลาให้เพื่อนหรือครอบครัวเลย หลายคนเสียงานเสียการไปเลยนะ คนพวกนี้จะเนียนมากๆ เนียนจนจับแทบไม่ได้เพราะพวกเขาจะค่อยๆ แยกเราออกจากคนรอบตัว ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กันคือ “ที่บ้านเธอไม่ชอบเรา” “เราว่าเพื่อนเธอแปลก” ด้วยความรักน่ะ บางทีก็คล้อยตามไปไม่ระวัง และด้วยความที่คนๆ นี้แยกเราออกมาจากคนที่ไม่น่าจะแยกเลย ก็ไม่แปลกที่จะถูกไม่ชอบหน้า
ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่ไม่เฮลธ์ตี้จะนำไปสู่การทำร้ายร่างกายนะ
แต่ก็ไม่ดีอยู่ดี เพราะความสัมพันธ์แบบนี้นอกจากจะทำให้เราไม่มีความสุขแล้วยังทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่เป็นตัวเอง ไม่รักตัวเอง ลองมองความสัมพันธ์ของเราด้วยสายตาของคนนอก หรือถ้ามองไม่ออกจริงๆ ลองสุ่มถามเพื่อนสนิทจากคนละกลุ่มดูสัก 3-5 คนก็ได้ว่า “แกว่ารักของฉันมันเฮลธ์ตี้ไหม?”
บางความสัมพันธ์ที่ไม่เฮลธ์ตี้น่ะซ่อมแซมได้นะ แต่มันต้องมาจากความต้องการของคนสองคน ทั้งสองฝ่ายต้องไม่ได้เป็นคนที่พื้นฐานเห็นแก่ตัวและไม่เดือดร้อนที่ทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย มีนักบำบัดด้านความสัมพันธ์ที่พร้อมจะช่วยเยียวยาพัฒนาให้ทุกความสัมพันธ์เกิดความแข็งแรงขึ้นมา แต่ถ้าคุยกับตัวเองเรียบร้อยแล้วพบว่า ความสัมพันธ์นี้ไม่โอเคเลยอ่ะ มันแย่จริงๆ ซ่อมแซมไม่ได้ พยายามอย่าค่อยๆ ตัด ออกมาซะเลย ตัดให้ขาดฉับเดียวง่ายดีกว่า
เหตุผลที่ต้องยืมสายตาของคนนอกมาเกี่ยวก็เพราะว่าบางทีความสัมพันธ์อาจจะไม่ได้ผิดปกติอะไร แต่บางคนก็คาดหวังมากเกินไปเหมือนกันนะ หรือบางทีมันเป็นความสัมพันธ์ที่แย่จริงๆ แต่เรายึดติดกับการไม่อยากเริ่มใหม่ ไม่กล้าเดินออกมา
และบางทีถ้าเราเริ่มตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ครั้งนี้แล้วว่ามันเฮลธ์ตี้หรือไม่ อาจจะชัดเจนมากพอแล้วว่าทำไมเราถึงรู้สึกสงสัยตั้งแต่แรกแล้ว
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand