กลางปีเช่นนี้รู้สึกว่าชีวิตอยู่ไปวันๆ มันตื้อๆ ตันๆ แล้วก็รู้สึกท้อ เหมือนความพยายามกับความสำเร็จทำไมดูห่างไกลกันเหลือเกิน เราให้กำลังใจคนอื่นได้ แต่พอมาเป็นเองแล้ว อยากได้คำพูดปลุกใจตัวเองบ้าง พูดไปก็ไม่แน่ใจว่าเราหลอกตัวเองให้สู้เองหรือเปล่า ในทางจิตวิทยาบอกว่าเพราะเราอยู่กับตัวเองตลอดเวลส ลองสร้างระยะห่างในใจ เปลี่ยนคำเรียก “ฉัน” เป็น “เธอ” ดูสิ
อย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
มีนักจิตวิทยาหลายคนพบว่าเวลาที่เราใช้สรรพนามเรียกตัวเองในใจ เช่น “ฉันทำได้น่า” “ฉันทำงานยากๆ นี้เสร็จอยู่แล้ว” เป็นการที่เราพูดแล้วยังอยู่ในวังวนของตัวเอง เราจะมีอารมณ์ความรู้สึกลึกๆ ว่า “เอ๊ะ แต่มันไม่ง่ายนะ” “เราจะไหวเหรอ” ที่ค้านกับคำให้สู้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเลยบอกว่า ให้ลองใช้สรรพนามบุคคลที่ 2 หรือ 3 เรียกแทนตัวเองดู เช่น “นิ้ม เธอพรีเซ้นต์งานนี้กับลูกค้าได้ เธอเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดอยู่แล้วนี่ เธอพูดเก่งออก” หรือ “วิ่งมาราธอนครั้งนี้ แกทำได้สบาย เคยซ้อมมาตั้งหลายครั้งแล้วไง” เวลาที่เราพูดให้กำลังใจตัวเองแบบนี้ แปลว่าเราสร้างสเปซเอาไว้ในใจ ให้เราเป็นมุมมองของอีกคนที่หันกลับมาเห็นว่าตัวเรามีความสามารถ มีศักยภาพล้นปรี่จะกลัวอะไรล่ะ ฉันคือมุนิน เธอคือมุตา ฉันเชื่อในตัวเธอ
การสร้างระยะห่างในใจ จะทำให้เราไม่ใช่คนที่ยืนอยู่ตรงนี้คนเดียว แต่เป็นโลกที่กว้างขึ้น ขยายความเชื่อให้อารมณ์ลบๆ ผ่อนออกไป เห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน เหมือนเวลาที่เราปลอบเพื่อน เราก็เชื่อและเห็นข้อดีเขาตั้งเยอะแยะ อย่าเห็นแค่จากสายตาเรามอง ใช้ใจสแกนตัวเองกลับมาแล้วภูมิใจในเรื่องต่างๆ เจอเรื่องยากๆ อะไรโหดๆ ครั้งหน้าก็แค่บอกว่า “พุ่งเข้าใส่ไปเลย เธอยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ เกรียงไกรจะตาย ออกไปบอกให้โลกรู้ค่ะยูว์”