ใครเคยดูละครและภาพยนตร์เหล่านี้บ้าง? เพลิงบุญ / วัยแสบสาแหรกขาด / อย่าลืมฉัน / เงารักลวงใจ / 999-9999 ต่อติดตาย ทั้งหมดที่พูดมานี้เป็นละครและภาพยนตร์ชื่อดังจนโด่งดังและเป็นที่พูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมืองมาแล้ว บอกเลยว่าแค่พูดชื่อก็ต้องมีร้องอ๋อกันบ้างแหละ ชื่อที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นฝีมือการเขียนบทของ นัท หรือ ณัฐิยา ศิรกรวิไล นักเขียนบทมือทองที่ใครๆ ก็ชื่นชมและมีเธอเป็นไอดอล
นัท ณัฐิยา ศิรกรวิไล เธอคือนักเขียนบทมือทองระดับต้นๆ ของเมืองไทยเลยว่าได้ ด้วยวิธีการสร้างตัวละครแต่ละตัวในเรื่อง การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านตัวละครเหล่านั้นออกมาอย่างสมเหตุสมผล ทำให้เรื่องราวนั้นๆ ร้อยเรียงออกมาได้อย่างสวยงามและความลงตัวระหว่างอารมณ์และเหตุผล ทำให้ละครที่นัทเขียนบททุกเรื่องเป็นที่ถูกพูดถึงและได้รับความนิยมเสมอ หรือบางครั้งก็สร้างชื่อเสียงให้กับนักแสดงหน้าใหม่ที่ตอนนี้กลายเป็นนักแสดงเบอร์ท็อปไปแล้วหลายคน
ช่วงนี้เป็นช่วงที่นัทกลับมาจากแคนาดา และอยู่ที่เมืองไทยประมาณ 6 สัปดาห์ ด้วยความคิดที่อยากจัดกิจกรรมส่งต่อความรู้ และแลกเปลี่ยนไอเดียให้กับนักเขียนที่อยากเล่าเรื่องและอยากได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการเขียน กลับมาไทยครั้งนี้ นัทเลยจัดเวิร์คช็อปเล็กๆ ที่ชื่อว่า Story Teller Corner Workshop ที่ศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คลีโอเลยขอแชร์เกร็ดความรู้ส่วนหนึ่งจากเวิร์คช็อปมาเล่าให้ฟัง
“Story Teller Corner Workshop ค้นหาเรื่องเล่าจากตัวเรา: Tell Me Your Story”
“เราต้องเข้าใจทัศนคติตัวละครให้ถูกต้อง ทัศนคติที่ไม่เหมือนกันนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมือนกัน” – ณัฐิยา ศิรกรวิไล
ขอแชร์เกร็ดความรู้บางส่วนจากเวิร์คช็อปมาเล่าให้ฟังกัน คุณนัทบอกว่า การเล่าเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ แต่เรื่องนั้นจะสนุกได้ต้องมีตัวละครที่น่าสนใจ คุณนัทได้แชร์เทคนิคการสร้างตัวละคร 4 ข้อที่เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งคีย์สำคัญในการเล่าเรื่อง
1. Backstory (พื้นหลังของตัวละคร) เป็นสิ่งแรกที่ทำให้เรารู้จักกับตัวละคร คุณนัทบอกว่า “ยิ่งขุดยิ่งรู้จัก” ถ้าเราต้องเขียนตัวละครขึ้นมาสักหนึ่งตัว เราต้องสัมภาษณ์ตัวละครให้มากที่สุด ทำความรู้จักให้มากที่สุด ก่อนจะเริ่มเขียนต้องคุยกับตัวละครก่อน เหมือนเป็นการสัมภาษณ์เพื่อเป็นการสร้างความรู้จัด เริ่มตั้งแต่เกิดเลย มีพี่น้องกี่คน ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเป็นยัไงไง เพื่อนมีกี่คน ความรู้สึกนึกคิดของเขาเป็นยังไง มองโลกยังไง คีย์ของมันคือ The more you know the more you communicate ยิ่งรู้ยิ่งสื่อสารได้มาก คุณนัทบอกว่า เวลาที่เราเขียนแล้วตัน อาจเป็นเพราะเรายังไม่รู้จักตัวละครเหล่านั้นดีพอ แสดงว่าภาพในหัวเรามันยังไม่ชัดเจนพอ เพราะฉะนั้นต้องกลับไปดูพื้นหลัง
2. Character trait (ภาพจำ) ภาพลักษณ์ของตัวละครจะเป็นสิ่งที่โดดเด่นขึ้นมา คุณบอกว่า วิธีคือ เราต้องดึงจุดที่น่าสนใจออกมาให้เห็นภาพชัดเจนในความทรงจำของเรา อาจจะลองสรุปออกมาเป็นสามคำที่เข้าใจง่ายและครอบคลุมที่สุด เราจะต้องเห็นภาพให้ชัด สมมติว่าเราอยากโปรโมทสินค้า 1 ชิ้น อาจจะลองสร้างคาแรคเตอร์ขึ้นมา กำหนดบุคลิคออกมา 3 คำ กำหนดให้เห็นภาพ ทำให้คนที่รับสารจดจำคาแรกเตอร์ของตัวละครได้
3. Point of View (มุมมอง) มองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขี้นจากมุมมองของตัวละครนั้น เราจะไม่มองผ่านมุมมองของเราเอง
4. Attitude (ทัศนคติ) ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อคนเรามีทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน การกระทำก็จะไม่เหมือนกันตามไปด้วย ให้เราสังเกตดูว่าตัวละครคิดอย่างไรกับสิ่งนั้น หรือคนๆ นั้น ถ้าเราไม่รู้ทัศนคติของตัวละครมากดีพอ เราจะใส่ทัศนคติเราลงไปไม่ได้ แต่เราต้องขุดให้ลึกกว่าเดิม ว่าเขามีทัศนคติที่แท้จริงเป็นอย่างไร สิ่งจะช่วยทำทำให้เวลาที่เขียนงานออกมา ตัวละครนั้นจะเป็นตัวของตัวเอง เขาจะไม่ใช่ตัวเรา
สรุปให้สั้น “สร้างพื้นหลังตัวของละคร รู้จักทัศนคติ มุมมอง และสร้างภาพจำ”
เวิร์คช็อปในครั้งนี้ไม่ใช่การบรรยายและจดโน้ต แต่จะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่มาจากหลากหลายอาชีพ อายุ และเรื่องราวที่แตกต่างกันไป ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้มุมมองที่แปลกใหม่ ได้พูดคุยกับคนจากหลายหลายสายงาน ทำให้เข้าใจคนในรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น ส่งผลให้เราเข้าใใจวิธีการสร้างตัวละครและการเล่าเรื่องได้ดีขึ้น
ใครที่พลาดรอบนี้ รอติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจในเพจของคุณนัททางเฟซบุ๊คไว้ได้เลยนะ
อ่านเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ CLEO Thailand และ FB > CLEO