เคยไหม? รู้สึกง่วงตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ตัวเองก็หลับเยอะมากกว่า 8 ชั่วโมง จะตื่นก็ตื่นยากเพราะรู้สึกเพลียแล้วก็อยากนอนต่อเรื่อยๆ แถมพอตื่นขึ้นมาแล้วยังรู้สึกไม่สดชื่นอีก บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริงๆ แล้วคุณอาจจะเป็น โรคนอนมากเกินไป หรือ Hypersomnia ก็ได้นะ
“ระหว่างวันคือเราง่วงนอนตลอดเลยแล้วก็งีบหลับบ่อยมาก อีกอย่างที่รู้สึกได้ว่าทำกิจวัตรประจำวันทุกอย่างได้ช้าลง อย่างทำงานก็ช้าลง สมองเฉื่อยชา ตอนแรกก็คิดว่าทำงานหนักเกินแล้วก็พักผ่อนน้อยแต่ที่ไหนได้ พอวันที่ไม่มีงานหรือได้พักผ่อนเยอะๆ ก็ยังเป็นอยู่” คนที่เป็น hypersomnia ได้บอกกับเรา
“คือเราสามารถงีบได้แทบทุกที่ แบบนั่งแล้วหลับก็ได้หรือนอนเลยก็ดี เราเคยไปนั่งร้านอาหารกำลังรออาหารอยู่แล้วเราก็งีบ คือถ้ามีโอกาสที่เรางีบได้เราก็จะงีบเลย” เพราะคนที่เป็นก็ต้องการงีบหลับหลายๆ ครั้งระหว่างวันนั่นเอง และเป็นอันตรายมากหากเผลอหลับระหว่างขับรถ หรือทำงานที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
ผลกระทบของ Hypersomnia
โรคนี้ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะคนที่เป็นจะรู้สึกไม่สดชื่น หงุดหงิดง่าย คิดหรือทำอะไรเชื่องช้า ไร้ชีวิตชีวา ความจำแย่ลง สมองเฉื่อยชา อ้วนง่ายเนื่องจากส่งผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกายซึ่งทำให้โรคอื่นๆ ตามมา ยิ่งไปกว่านั้นคือ กลายเป็นซึมเศร้าเพราะการนอนมากทำให้ฮอร์โมนด้านความสุข จำพวก เซโรโทนิน และ เอนดอร์ฟินลดต่ำลง
ตัวอย่างเคสที่เราได้สัมภาษณ์เขาเล่าให้ฟังว่า “เราจะหงุดหงิดมากเวลาเราวางแผนไว้แล้วว่าจะทำอะไรบ้างตอนเช้าแต่มันก็ถูกเลื่อนไปตอนบ่ายหมดเพราะเรานอนต่อ เลื่อนนาฬิกาปลุกไปเรื่อยๆ ข้าวเช้าก็ไม่ได้กิน ทุกอย่างคือช้าไปหมด รู้สึกเหนื่อย ขี้เกียจอยากนอนต่ออย่างเดียว แล้วก็ลืมนู่นนี่เล็กๆ น้อยๆ บ่อยมาก อะไรที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์นี่คิดไม่ค่อยออก มันตื้อไปหมด ส่งผลกระทบต่องาน คืองานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร”
สาเหตุ
- อดนอนบ่อยๆ
- นาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน เช่น เดินทางข้ามประเทศที่ช่วงเวลาต่างกันมาก
- ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองผิดปกติ
- นอนกรน มีภาวะการณ์หยุดหายใจในช่วงหลับ ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่พอ
- สมองได้รับบาดเจ็บหรือโรคเกี่ยวกับทางสมองต่างๆ
- กินยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ
วิธีป้องกัน
- เข้านอนตรงเวลาทุกวัน กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมติดต่อกัน
- หากตื่นแล้วให้ลุกจากเตียง ไม่นอนต่อ
- หากิจกรรมทำก่อนนอนให้ร่างกายผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ฟังเพลง
- งดอาหาร junk food น้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ปกติ ทำให้ง่วง เหนื่อย ตอนที่ระดับน้ำตาลตก
- ออกกำลังกายบ่อยๆ สร้างออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น
- จัดห้องนอนให้โปร่ง อากาศระบายได้ดี ร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมองเซื่องซึม และง่วงนอนตลอดเวลา
- ไม่ควรใช้ยานอนหลับ หากมีอาการนอนไม่หลับควรปรับวิธีการนอนด้วยตัวเอง
และหากใครที่เป็น Hypersomnia แล้วลองปฏิบัติตามข้อด้านบนแล้วไม่ดีขึ้น ก็แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปค่ะ
อ่านบทความอื่นๆ ที่: