เราทุกคนฝันอยากมีความสัมพันธ์ที่เฮลธ์ตี้ที่สุด แต่อะไรคือคำว่า “เฮลธ์ตี้” ล่ะ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเครื่องเริ่มสั่นแล้ว?
อย่างแรกเลยต้องบอกก่อนว่าความสัมพันธ์ที่เฮลธ์ตี้ไม่ได้เหมือนกันทุกคู่ บางคนอาจต้องการสิ่งนี้ บางคนอาจไม่ต้องการ คู่บางคู่ต้องการสเปซมาก บางคู่ต้องการกิจกรรมสนุกๆ ด้วยกัน แล้วความสัมพันธ์ในวัยยี่สิบ ก็อาจไม่เหมือนกันเลยกับในวัยสามสิบก็ได้ หรือบางคนก็อาจโอเคที่จะมีความสัมพันธ์มากกว่าคนสองคน “ความสัมพันธ์เฮลธ์ตี้” จึงเป็นเรื่องที่ให้ความหมายได้หลากหลาย เลยมีอะไรที่ลึกๆ ไปกว่านั้นว่านี่ล่ะคือหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์แบบเฮลธ์ตี้ ที่อาจจะเป็นพื้นฐานคล้ายๆ กันได้อยู่เพื่อที่จะได้มาปรับใช้กับคู่ของคุณได้
ความสัมพันธ์เฮลธ์ตี้เป็นยังไง?
“สิ่งหนึ่งที่คนมีความสัมพันธ์เฮลธ์ตี้เป็นกันก็คือ จะพร้อมที่จะปรับตัวเข้าหากันเสมอ” ลินด์เซย์ แอนติน เธราปิสต์ชื่อดังในแคลิฟอร์เนียอธิบาย เธอบอกว่า “คนสองคนจะคอยปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เพราะรู้ว่าอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอด และรู้ด้วยว่าในแต่ละเฟสของชีวิต มีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง”
และนี่คือสิ่งสำคัญที่ควรส่องเข้าไปดูให้ลึกๆ ว่าคุณและคู่มีความสัมพันธ์แบบเฮลธ์ตี้มั้ย? ถ้าคุณมี…..
การสื่อสารกันที่เปิดกว้าง..
คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีมักจะคุยกันเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตกันได้ ความสำเร็จ ความล้มเหลว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ปมในใจ ความฝันต่างๆ และก็มักจะรู้สึกสบายใจ ชิลล์ๆ ที่ได้คุยกันถึงเรื่องเหตุการณ์หนักๆ ที่เกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างเรื่องอาการอ่อนแอในใจของแต่ละคน ความเครียดของเพื่อนสนิท หัวหน้าอารมณ์เหวี่ยง
หรือแม้กระทั่งเรื่องที่คิดไม่เหมือนกัน ก็สามารถฟังกันได้แบบไม่ตัดสินกัน แต่ละคนแชร์มุมมองของตัวเอง และยินดีรับฟังกัน
คนที่มีความสัมพันธ์แบบมากกว่าคนสองคน ก็อาจจะเอาเรื่องอารมณ์ แก่นที่แต่ละคนให้คุณค่า ความกังวลต่างๆ มาเช็คบ่อยๆ เวลาคุยกันว่าอีกฝ่ายโอเคมั้ย รู้สึกยังไงด้วย
ความไว้ใจกัน
ความไว้ใจคือความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อกัน คุณจะไม่มีความลับต่อกัน และเมื่อคุณห่างกัน คุณก็จะไม่กังวลว่าแต่ละคนจะโกหกลับหลังกันหรือเปล่า? ความไว้ใจยังลึกลงไปมากกว่าการนอกใจหรือการโกหกด้วย เพราะความไว้ใจคือความรู้สึกปลอดภัย สบายใจที่จะได้รู้ว่าคนรักเราจะไม่ทำร้ายเราทั้งทางกายและใจ
ที่สำคัญความไว้ใจยังหมายถึง “การที่เรารู้ว่าคนรักเรารู้ว่าเราสนใจอะไร และเคารพเรามากพอที่จะผลักดันเราให้เลือกทางที่เราเป็นคนตัดสินใจเองด้วย”
ความเป็นตัวเองของแต่ละคน
ความสัมพันธ์ที่เฮลธ์ตี้มันจะใช้อธิบายการพึ่งพากันของคนรักกัน เพื่อได้ซัพพอร์ตซึ่งกันและกันก็จริง แต่ความสัมพันธ์จะเฮลธ์ตี้ได้ คนแต่ละคนต้องมีความเป็นตัวเองของเขาด้วยเหมือนกัน
พูดอีกทางก็คือถ้าเรายังคงเป็นตัวเองได้อยู่ ความสัมพันธ์ก็จะบาลานซ์ คุณจะรู้สึกเสมอว่าได้รับการยอมรับและได้รับความรักจากอีกฝ่าย แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ยังรุ้สึกนับถือตัวเอง และเห็นคุณค่าในตัวเอง ถึงคุณจะอยู่ตรงนั้นเพื่อกันและกันเสมอ แต่ก็จะไม่รู้สึกว่าต้องพึ่งอีกคนเพื่อจะให้ได้สิ่งที่คุณต้องการด้วย
คุณยังคงมีเพื่อนๆ และมีคอนเน็คชั่นจากโลกภายนอกเข้ามาในความสัมพันธ์ และใช้เวลาไปทำสิ่งที่คุณแต่ละคนสนใจกันได้เสมอ
ความอยากรู้อยากเห็น
ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่ความรักจะยืนยาวและเฮลธ์ตี้ได้ ในความสัมพันธ์ต้องมี “ความอยากรู้อยากเห็น” หมายถึงสิ่งที่คุณสนใจ สิ่งที่คุณคิด เป้าหมาย สิ่งที่คุณทำในแต่ละวัน คุณจะอยากให้คนอีกคนเจริญเติบโตขึ้นในสิ่งที่เขาชอบ ที่เขาถนัด และคุณจะไม่มีทางที่จับเขาไปวางในที่หนึ่งและคิดว่าเขาต้องอยู่ตรงนั้นเพื่อคุณ หรือคิดว่าสิ่งนี้ล่ะที่เขาควรจะเป็น
“คุณจะมีมายด์เซ็ตที่ยืดหยุ่นในกันและกันเสมอ และตื่นเต้นที่จะเห็นความงอกงามในตัวตนของอีกคน”
“ความอยากรู้อยากเห็นยังหมายถึงว่า คุณยินดีที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ของคุณ เมื่อใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกไม่เติมเต็ม ซึ่งหมายถึงการมองความจริงตรงๆ มองคนอีกคนในสิ่งที่เขาเป็นอย่างแท้จริง นั่นแปลว่าคุณใส่ใจเขา ไม่ใช่เขาก็คือคนในฝันที่คุณอยากให้เป็น”
ช่วงเวลาที่ห่างกัน
แน่นอนว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีมักจะชอบที่จะใช้เวลาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทำงานด้วยกัน ช่วยกันทำให้อีกคนได้สิ่งที่ต้องการ หรือคุยกันนานๆ จัดการที่อยู่อาศัยด้วยกัน แต่คุณก็ยังคงต้องการที่จะมีเวลาของตัวเอง มีสเปซของตัวเองด้วยเหมือนกัน อาจจะทำอะไรที่ชอบคนเดียว รีแล็กซ์คนเดียว หรือไปหาเพื่อนของแต่ละคนแยกกันไป
ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ไม่ควรที่จะต้องใช้เวลาด้วยกันตลอดเวลา หรือคิดว่าถ้าไม่มีอีกคนแล้วจะอยู่ไม่ได้เวลาห่างกัน ช่วงเวลาที่ห่างอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ใครอีกคน ได้รู้จักตัวเอง ได้โล่งๆ กันตัวเอง และทิ้งสเปซให้เห็นคุณค่าของอีกฝ่ายได้มากขึ้นก็ได้ด้วย
ความหยอกล้อกัน อารมณ์ขัน หยอดกัน หวานใส่กัน
สำคัญเลยที่ในความสัมพันธ์ต้องมีช่วงเวลาที่ได้สนุกด้วยกัน เมื่อจังหวะและอารมณ์ได้อาจจะอยากลุกขึ้นมาเต้นรำกัน เล่นมุขตลกใส่กัน หัวเราะดังๆ ไปด้วยกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นคือว่าเป็นสัญญาณที่ดีเลยนะ
เพราะชีวิตมักส่งเรื่องยากๆ เครียดๆ มาท้าทายความสัมพันธ์ พอมาแล้วเราจะต้องมีความสัมพันธ์ที่เครียดตามไปด้วยมั้ย แต่ถ้าเรายังเป็นคนที่ขี้เล่น สนุกกันอยู่ได้ เรื่องเหล่านี้จะไปคลี่คลายเรื่องเครียดๆ ให้เราสบายใจขึ้น เอาแค่ได้แหกปากร้องเพลงด้วยกันบ้าง หัวใจก็ลิฟท์อัพขึ้นได้แล้ว
ความลึกซึ้งทางกายต่อกัน
ความลึกซึ้งแนบแน่นอาจไม่ได้ถึงการมีเซ็กซ์อย่างเดียวนะ คุณยังมีความสัมพันธ์ที่ดีได้อยู่ ถ้าคุณไม่มีเซ็กซ์ แต่นั่นหมายถึงคุณยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่ายนะ คู่บางคู่อาจไม่สนเรื่องนี้เลย แล้วมีความสุขกันอยู่ก็เป็นได้ เพราะความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งทางกาย อาจเป็นเรื่องของการกอดกัน จูบกัน คอมฟอร์ตกัน เป็นคอนเน็คชั่นที่ผูกพันคุณกันเข้าไว้ด้วยกันอะไรแบบนี้
หรือถ้าคุณทั้งสองคนเอนจอยการมีเซ็กซ์ ความสัมพันธ์จะเฮลธ์ตี้ได้เมื่อคุณได้
- รู้สึกสบายใจที่จะลองมีเซ็กซ์ใหม่ๆ และคุยเรื่องเซ็กซ์
- ถ้าอีกฝ่ายไม่อยากมีเมื่อไหร่ ก็ชิลล์ๆ ไม่คิดมากได้
- คุยกันเรื่องความต้องการของอีกฝ่ายได้
- รู้สึกสบายใจที่จะแชร์กันถ้ามีความต้องการกันน้อยลง
ความสัมพันธ์เฮลธ์ตี้ยังรวมถึงการยอมรรับข้อจำกัดเรื่องเซ็กซ์ของอีกฝ่ายด้วย อย่าง
- ไม่กดดันอีกฝ่ายให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำ
- คอยสอนกัน ให้ข้อมูลเรื่องนี้กัน
- ถกกันเรื่องว่าถ้าเรามีความต้องการไม่ตรงกันจะทำยังไง
ความเป็นทีมเวิร์ค
ความสัมพันธ์ที่แข็งแรงจะเหมือนคนที่เป็นทีมเดียวกัน อาจทำงานด้วยกัน ซัพพอร์ตกัน ช่วยกันทำจุดมุ่งหมายของแต่ละคนให้สำเร็จไปด้วยกัน
“แต่ละคนจะระวังหลังให้กัน และคอยเป็นฟูกให้กันและกัน คุณจะรู้ว่าจะไปล้มใส่อีกฝ่ายได้ตอนที่คุณกำลังอ่อนแอที่สุด และคุณก็จะซัพพอร์ตความต้องการของเขาเสมอ”
ความขัดแย้งเกิดขึ้น มีหนทางแก้ไขไปด้วยกัน
ในทุกความสัมพันธ์ที่เฮลธ์ตี้ ต้องมีความขัดแย้ง และอะไรที่คิดไม่ตรงกันเสมอ คุณอาจทะเลาะ อึดอัด หรือโกรธอีกคนอยู่บ้าง สิ่งนี้คือสิ่งปกติมากๆ และไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเลย
สิ่งสำคัญกว่าคือคุณจะมีวิธีรับมือกับความขัดแย้งนี้ได้ยังไง ถ้าคุณยังคงคุยกันถึงความต่างกันของกันและกันได้อย่างซื่อตรง และเคารพซึ่งกันและกัน คุณก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีได้อยู่ คู่ที่มักมองประเด็นความขัดแย้งออกโดยที่ไม่ไปตัดสิน จะหาทางประนีประนอมและแก้ไข้สถานการณ์ได้เสมอ
Red Flag: เมื่อมีสัญญาณไม่ดีในความสัมพันธ์ คุณจะเป็นยังไงกัน?
สำคัญเลยที่คุณจะต้องรู้สึกเวลาที่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอีกคนหนึ่ง ความสัมพันธ์ควรเป็นเรื่องของความสุข คอนเน็คชั่น การเติมเต็มกันก็จริง แต่เมื่อไหร่ที่ใครอีกคนเครียด ซึมเศร้า เฉา หมดอาลัยตายอยาก ไม่มีแพชชั่น คนอีกคนก็ควรต้องเห็นสัญญาณเหล่านี้ และเข้ามาช่วยแก้ไขด้วย
เพราะถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ นั่นก็แปลว่าคุณไม่ได้มีการคุยกันที่เปิดกว้างพอ ไม่ได้เคารพในกันและกันพอ และปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เมื่อไหร่ที่ธงแดงถูกดึงขึ้นมาแล้ว ต้องรีบหันไปดูทันทีเลย เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้เฮลธ์ตี้ต่อไป
ถ้าคุณเริ่ม…..
คนใดคนหนึ่งพยายามมาควบคุม หรือเปลี่ยนอีกฝ่าย
“ไม่มีใครรู้สึกโอเคเวลาพยายามเปลี่ยนอีกฝ่ายหรอก” ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังถูกควบคุมเมื่อไหร่ ให้ยืดอกและกล้าๆ บอกอีกฝ่ายออกไป ส่งสิ่งที่คุณรู้สึกออกไปตรงๆ หรือถ้าคุณคิดว่าอีกฝ่ายควรเปลี่ยนอะไรบ้าง ก็ให้แสดงออกตรงๆ ถึงสิ่งที่คุณคิดด้วย แต่มันจะไม่โอเคเลยถ้าคุณสั่งหรือบอกให้อีกฝ่ายพยายามทำอะไร นั่นคือคุณกำลังควบคุมเขาอยู่
สัญญาไม่ดีคือถ้าอีกคนกำลังทำสิ่งที่ทำให้คุณอึดอัดใจ และคุณยอมรับมันไม่ได้ บอกเลยว่าจะมีผลกระทบความสัมพันธ์ระยะยาวแน่นอน
คู่ของคุณไม่เคารพพื้นที่ของคุณ
“พื้นที่ของคุณ” มีส่วนสำคัญในความสัมพันธ์ทีเดียว ถ้าคุณชัดเจนว่าสิ่งนี้คือพื้นที่ของคุณ คือเส้นขอบเขตของคุณที่ไม่อยากให้ใครมาแตะ แล้วในความสัมพันธ์คุณโดนแตะพื้นที่นี้ตลอด หรือกดดันให้ไม่มีพื้นที่ บอกเลยว่านี่คือสัญญาณไม่ดีมากๆ ในความสัมพันธ์
คุณอาจจะบอกว่า “ฉันต้องการสเปซส่วนตัวจริงๆ เมื่อฉันกลับถึงบ้าน ฉันดีใจที่ได้เจอคุณนะ แต่ฉันต้องการผ่อนคลายตัวเองด้วย”
มีหลายๆ คนที่พอกลับมาถึงบ้าน ไม่ต้องการการสัมผัสทางกายใดๆ ทั้งนั้น แต่อีกฝ่ายก็ลากเข้าห้องเลย นั่นจะทำให้รู้สึกเคืองและโกรธอยู่ในใจได้ สิ่งนี้จะสร้างเป็นแรงต่อต้านลึกๆ หรืออีกฝ่ายต้องการมีมุมของตัวเองสักมุม แต่กลับถูกใช้มุมนั้นด้วยคนอื่นในบ้านตลอด มุมนั้นหายไป ก็เท่ากับความโล่งสบายของอีกคนหายไปด้วย
เรื่องแบบนี้เหมือนจะไม่สำคัญ และอีกคนอาจดูยอมๆ แต่เอาเข้าใจเป็นเรื่องที่สะสมในใจได้เลย สังเกตดีๆ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น
คุณไม่ได้ใช้เวลาด้วยกันเพียงพอ
ความสัมพันธ์จะพัฒนาขึ้นเมื่อแต่ละคนเอนจอยกันและกันเพียงพอ และยิ่งอยากใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น บอกเลยว่าความสัมพันธ์จะเริ่มยากเลย ถ้าคุณใช้เวลาด้วยกันน้อยลงแบบไม่มีเหตุผลด้วย เช่น คุณบอกว่างานเยอะ หรือปลีกตัวไปจัดการครอบครัวตัวเอง หรือไปอยู่กับเพื่อนของตัวเอง
แล้วถ้าเมื่อไหร่อีกฝ่ายรู้สึกโล่งสบายเมื่อไม่มีคุณอยู่ล่ะก็ นั่นคือสัญญาณร้ายเลย หรือคุณหาข้ออ้างเสมอที่จะไม่ต้องใช้เวลากับอีกคน แปลว่าใจไม่อยากอยู่ด้วยแล้ว
ในความสัมพันธ์มักรู้สึกถึงความไม่เท่ากัน
ความสัมพันธ์ที่เฮลธ์ตี้ต้องมีการบาลานซ์ที่ดี คุณอาจแชร์เรื่องเงินกัน หรือถ้าใครหาเงินได้น้อยกว่า อีกคนก็อาจต้องทำอะไรเพิ่มขึ้น แต่ในเรื่องความเท่ากันในความสัมพันธ์ก็หมายถึงเรื่องอื่นด้วยเหมือนกัน “สิ่งที่มองไม่เห็น การแสดงความรัก การพูดคุย ความคาดหวังในความสัมพันธ์” ทั้งหมดบอกถึงความไม่พอ ไม่เท่ากันของความสัมพันธ์ได้ เมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกว่าไม่บาลานซ์กันแล้ว และกลายเป็นเรื่องเคืองๆ เรื่องอึดอัดในใจ นั่นล่ะเริ่มส่งสัญญาณที่ไม่ดีมาแล้ว
เมื่อได้พูดอะไรที่เนกาทีฟ หรือทำร้ายความรู้สึกกัน
ไม่เป็นไรเลยถ้าในความสัมพันธ์จะมีอะไรที่คุณกังวลบ้าง ขอแค่ได้บอกความรู้สึกกันในทางที่ดี เพื่อให้เกิดสิ่งี่ดีขึ้นและได้ซัพพอร์ตกัน แต่จะไม่เฮลธ์ตี้แน่นอนถ้าคุณใช้ถ้อยคำทำร้ายกัน การจิกกัด การหลอกด่ากัน พูดเสียดสีต่างๆ นานา จะสะสมให้เคืองกันและไม่อยากอยู่ใกล้ๆ กันได้
“พฤติกรรมอย่างการเขียนประชดประชัน วาจาเลาะร้าย หรือพูดถึงอีกฝ่ายในทางไม่ดีให้คนอื่นฟัง หรือชี้ให้เห็นว่าใครเจ๋งกว่าใคร พูดจาข่มอีกฝ่าย ทั้งหมดจะทำให้เกิดภัยต่อความสัมพันธ์ทั้งนั้น”
คุณไม่รู้สึกว่ามีตัวตนในความสัมพันธ์
เวลาคุณออกความเห็น การมีอยู่ของคุณ ปัญหาที่คุณยกขึ้นมา กลับไม่มีใครสนใจ ทุกคนละเลยและปล่อยให้มันผ่านไป หรือแม้กระทั่งการพยายามบอกสิ่งที่คุณรู้สึกก็ดูยากเย็น สิ่งเหล่านี้คือการสื่อสารที่ไม่ดี ไม่ได้รับผลตอบรับ อาจเพราะมีเรื่องที่คุณอึดอัดและอยากเปลี่ยนแปลงด้วย พอไม่ได้งัดออกมาแก้ไขกัน ก็ทำให้ไม่อยากคุย เก็บเอาไว้ กลายเป็นความเก็บกด รู้สึกไม่มีใครเห็นค่า เป็นลางร้ายสุดๆ อีกหนึ่งสิ่งในความสัมพันธ์เลยทีเดียว
คุณกลัวที่จะแสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วย
คนรักที่ดีควรรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยากแสดงความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งการคิดที่ต่างกัน ถ้าเมื่อไหรที่ได้ทำออกไป แล้วอีกฝ่ายเชิดใส่ เดินหนี หรือตอบกลับด้วยความรุนแรง นั่นก็แปลว่าเขาไม่เคารพคุณอยู่
แล้วถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ไปทุกวันๆ บอกเลยว่าความสัมพันธ์ก็จะดีได้ยาก “ถ้าคุณรู้สึกกลัวที่จะแสดงความรู้สึกออกมา กลัวถูกการกระทำทำร้ายกลับ หรือวาจาทำร้ายกลับ ให้ไปคุยกับเธราปิสท์หรือเพื่อนเพื่อช่วยกันคลี่คลายจะดีกว่า”
คุณไม่รู้สึกมีความสุขหรือสบายใจเวลาคู่ของคุณอยู่รอบๆ ตัว
ถ้าเมื่อไหรที่เขาแค่เดินผ่านก็ผิดแล้ว หรือการมีเขาทำให้อึดอัด ไม่ว่าจะเป็นการที่อีกฝ่ายพยายามเอาใจคุณมากไป รักจนร้อน หรือจัดการเรื่องต่างๆ ให้คุณมากเกินไป ก็ทำให้อึดอัดได้ ทำให้คุณขาดความเป็นตัวเอง และรู้สึกเหมือนอยู่ในคุกบางอย่าง ไม่โล่งหัว ลองสังเกตตัวเองดูนะว่าสิ่งนี้เกิดกับคุณไหม
เวลามีเรื่องต้องถกกัน ไม่เคยมี Next Step
ในความสัมพันธ์คุณทะเลาะกันได้ แต่ต้องจบลงด้วยโซลูชั่นที่โอเคกับทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยไปกับสายลม และเพิกเฉย คุณอาจไม่ต้องแก้ไขทุกอย่างเดี๋ยวนั้น แต่ไม่ทิ้งขว้างที่จะกลับมาแก้ไข หรืออาจหาเวลาค่อยๆ คุยกันให้สบายใจหลังจากนั้นก็ได้ อาจมีพัฒนาการแก้ไขไปช้าๆ ด้วยกัน
มันไม่ดีเลยถ้าคุณค้นพบว่าตัวเองต้องมานั่งหาโซลูชั่นอยู่คนเดียวซ้ำๆๆ ในเรื่องเดิมๆ และก็ดูจะไม่มีการพัฒนาใดๆ ไม่ว่าคุณจะพยายามถกกันมาแค่ไหน สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกอยากถอยออกมา แล้วไม่อยากเดินกลับเข้าไปได้เลยนะ
8 คำถาม ที่คุณต้องถามตัวเอง ว่าความสัมพันธ์คุณเฮลธ์ตี้ไหม?
- คุณได้รับกำลังใจที่จะเติบโตขึ้น พัฒนาตัวเองขึ้นจากคู่ของคุณไหม?
- คุณมีจุดมุ่งหมายในอนาคตร่วมกันดีพอไหม?
- คุณอยากมีรูปแบบความสัมพันธ์เหมือนกันไหม?
- แล้วคุณยังเป็นตัวเองอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้นได้อยู่ไหม?
- คุณได้ให้และรับเท่าๆ กันไหม?
- ชีวิตคุณจะดีขึ้น เมื่อมีอีกฝ่ายอยู่ในความสัมพันธ์ไหม?
- คุณมีชีวิตชีวา และมีแพชชั่นไหม?
- เวลาที่คุณมีด้วยกัน มีความหมายกับชีวิตคุณกันไหม?
ถ้าส่วนใหญ่คุณตอบว่า “ใช่” คุณก็อาจมีความสัมพันธ์ที่ดีงามแล้วนะ
Tips เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรง งอกงามขึ้น
เอาล่ะ! คุณก็ได้สำรวจตัวเองและความสัมพันธ์ของคุณมาแล้ว หลังจากนี้ก็ถึงตอนนี้จะทำยังไงให้ความสัมพันธ์คุณเฮลธ์ตึ้ขึ้นได้ “คนสองคนจะต้องเห็นพ้องต้องกัน ที่จะอยากเวิร์คให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นด้วย” ถ้าใครคนใดคนหนึ่งอยาก แต่อีกคนเฉยๆ ก็อาจไม่มีประโยชน์อะไร สิ่งที่คุณควรทำให้กันและกัน
โอบกอดความแตกต่างของอีกคน
“อีกคนชอบ อีกคนไม่ชอบ อาจต้องลองพยายามหากิจกรรมที่ซิงค์กันและเอนจอยไปด้วยกัน ต้องระลึกรู้ไว้เสมอว่าเราสองคนต่างกันนะ”
พิจารณามุมมองของอีกฝ่าย
“ความอยากรู้อยากเห็น จะทำให้เกิดการฟังและสนใจอีกฝ่าย มากกว่าเดินหนีเมื่ออีกฝ่ายอยากเล่าอะไรให้ฟัง ใส่ใจความเป็นอีกฝ่ายอย่างแท้จริง สิ่งนี้ก็จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ”
แก้ปัญหากันเป็นทีม
“ช่วยกันหาทางแก้ไปด้วยกัน ดีกว่าการด่าทอ หรือปล่อยให้อีกคนต้องเผชิญอยู่คนเดียว”
ขอสิ่งที่คุณต้องการ และพร้อมที่จะฟังความต้องการของกันและกัน
“การประนีประนอมกันคือหัวใจที่จะทำให้รับฟังกันได้ และต้องเข้าใจด้วยว่าคุณสองคนต่างกันด้วย”
ลองทำสิ่งใหม่ด้วยกัน
“ถ้าความสัมพันธ์คุณช่างชืดชา ก็อาจต้องเปลี่ยนที่ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ให้แต่ละคนได้ตื่นตาตื่นใจและเอนจอยการมีกันมากขึ้น”
คุยเรื่องความฝันและจุดมุ่งหมาย
“สิ่งนี้จะทำให้คุณกลับมาคอนเน็คท์กันอีกครั้ง และเข้าใจกัน เข้าใจคุณค่าของกันและกันด้วย”
สุดท้ายแล้ว…
คุณต้องไว้ใจกัน และรู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่ด้วยกัน คุณควรเชื่อในความสามารถที่จะเรียนรู้และเติบโตขึ้นของกันและกัน สำคัญคือต้องเชื่อสัญชาติญาณคุณเองนะ เมื่อรู้สึกว่าความสัมพันธ์เริ่มแปลกๆ แล้ว อย่าหาข้ออ้างใดๆ และอย่าพยายามพลีสกันและกันเกิดไป การปกป้องความรู้สึกของตัวเองและอีกฝ่าย วันหนึ่งทุกอย่างก็พังทลายได้อยู่ดี
แต่ถ้าคุณเวิร์คกันแล้วไม่มีอะไรเวิร์ค ยิ่งฝืนกันไปก็อาจทำลายจิตวิญญาณของอีกฝ่ายด้วยเหมือนกัน บางครั้งก็ต้องยอมรับ เปิดกว้าง และอาจถึงเวลาที่จะจบความสัมพันธ์ลงก็ได้
อ่านเรื่องราวอื่นๆ ต่อได้ที่ คุณมีนิสัยแบบนี้หรือเปล่า ถ้าไม่อยากท็อกซิกในความสัมพันธ์