ก่อนจะมาเป็น Self-Factory ปรางเริ่มการเป็น Acting Coach ได้ก็เพราะว่าเธอทำสิ่งนี้ในวงการบันเทิงจริงๆ อาชีพที่หลายคนสงสัยว่าทำอะไรในกองถ่าย ต้องมีคนๆ นี้ไหม ในเมื่อวงการบันเทิงไทยเหมือนจะไม่ได้เดินทางไปไหนไกล แต่จะบอกว่าถ้าไม่มีตำแหน่งนี้ วงการบันเทิงไทยก็อาจจะมาไม่ถึงจุดนี้ก็ได้
ทุกอาชีพมาความหมายบางอย่างสำหรับบางคนเสมอ
“เราสอนการแสดงให้กับนักแสดง ทำให้เขาสามารถเข้าถึงบทของเขาได้ดีมากขึ้น เรามีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้กำกับกับนักแสดง ช่วยเขาหาว่าคนๆ นี้จะเข้าถึงคาแรคเตอร์ที่ได้รับได้ยังไงให้แบบของเขา”
หลายคนอาจจะมองว่าเป็นนักแสดงน่ะง่าย หน้าตาดี เล่นละครได้ รับบท ท่องจำ แสดงออกไป ได้เงินก้อน แต่ความจริงแล้ว ‘นักแสดง’ ที่ ‘ทำการแสดง’ จริงๆ คือเขากำลังทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด แอคติงโค้ชอย่างปรางมีหน้าที่ในการไกด์ และแก้ไขปัญหาในใจที่ขวางทางไม่ให้คนๆ นั้นเข้าถึงบทที่ได้รับ ทั้งๆ ที่เขาท่องจำได้ทุกคำแล้วก็ตาม
“คนเราจะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกตัวเองไม่ง่ายนะ แล้วแต่ละคนมีระดับความเปิดรับสิ่งนั้นต่างกัน วิธีการที่จะไปถึงอารมณ์ความรู้สึกนั้นก็ไม่เหมือนกัน บางคนถูกสอนให้ห้ามร้องไห้ ตอนเด็กๆ คงมีคนเคยได้ยินว่า “เป็นผู้ชายต้องไม่ร้องไห้นะ” นี่ก็เป็นหนึ่งอุปสรรคของนักแสดงบางคน เพราะมันขัดต่อความรู้สึกของเขา” คนเป็นนักแสดงแต่ละคนต้องหาให้เจอว่า เขาจะก้าวผ่านมันได้ยังไง และปรางก็มีหน้าที่ในการพาเขาไป
ไม่มีใครทำไม่ได้ในเวลาที่ไม่จำกัด
ผลงานที่ออกมาในฐานะของคนดู เราอาจจะเคยมองว่า นักแสดงคนนี้เล่นได้ไม่ดีเท่าที่จะมีโอกาสได้บทบาทที่น่าสนใจ ทำไมคนเก่งถึงไม่ค่อยได้โอกาส คำถามมากมายถึงวงการการแสดงในประเทศไทย แต่ในฐานะของคนที่เป็นส่วนหนึ่งจะมองว่า คนๆ หนึ่ง ทำไม่ได้เลย ไม่ได้
“มีคนที่เราคิดว่าในระยะเวลาเท่านี้ ไม่น่าได้ แต่เราเชื่อว่าทุกคนน่ะ ทำได้ ถ้าเกิดว่าเราไม่เชื่อว่าเขาจะทำได้ เราเองก็ทำงานของเราไม่ได้” เพียงแต่ก็มีบางคนที่เธอมีความเห็นว่าเขาอาจต้องกลับไปยอมรับความเป็นตัวเองก่อน “เขาต้องรู้ก่อนว่าเขารู้สึกหรือไม่รู้สึก สิ่งที่ยากก็คือนักแสดงหลอกว่าตัวเองรู้สึก แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่” และไม่ได้มองว่าเขากำลัง โกหก ใคร “เขาอาจจะไม่รู้จริงๆ ก็ได้ เพราะไม่ได้ถูกสอนให้รู้สึก”
“คนบางคนก็ถูกสอนให้ไม่พูดความรู้สึก หรือแม้แต่ยอมรับว่าเรารู้สึก และบางทีการที่จะต้องยอมรับว่ารู้สึกแบบนี้ได้ มันไปขัดต่อความเชื่อของเขา”
วินัย และเปิดใจ
“วินัยในการทำงาน ตรงต่อเวลาและทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายไป” เพราะนักแสดงไม่ได้ทำงานแค่หน้าฉาก พวกเขาต้องทำความเข้าใจในบทที่ได้รับก่อนที่จะมาแสดงจริงเสมอ
นักแสดงส่วนใหญ่อาจจะไม่ใช่ดารา และดาราทุกคนก็ไม่ใช่นักแสดง “ดาราคือคนที่อยู่ในแสงเสมอไม่ว่าเขาจะทำการแสดงหรือไม่ หรือทำการแสดงอยู่ตลอด แต่นักแสดงมันคือ actor เขาทำ action บางอย่างเพื่อเอาตัวละครนั้นแสดงสู่สายตาของคนดู”
ปรางทำงานกับนักแสดงมาไม่น้อยในร่วมสิบกว่าปีในวงการบันเทิง เธอมีคนที่อยากยืนปรบมือให้เลยถึงวินัยและความพยายาม (ซึ่งสำคัญกว่าพัฒนาการและชื่อเสียงซะอีก) ยกตัวอย่างก็คือ ‘มุก-วรนิษฐ์ ถาวรวงศ์’
“มุกเป็นคนเก่ง มีความพยายามที่จะไปสู่บทบาทที่ได้รับ ทั้งๆ ที่มันค่อนข้างจะห่างไกลจากความเป็นเขา มุกไม่เคยจะบอกว่า จะไม่ทำ หรือทำไม่ได้” อีกคนก็คือ ติช่า-กันติชา ชุมมะ “เขารู้จักตัวเองดีมาก เสน่ห์ของติช่ามันเกิดจากความเป็นตัวเองนั่นแหละ สามารถนำมาใช้ในคาแรคเตอร์ต่างๆ ได้”
“สอนแอคติ้งให้หน่อย” จากปากคนที่ไม่ได้จะเป็นนักแสดง
จากคลาสแอคติ้งสู่ห้องเรียนที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักตัวเองมากขึ้นมันเริ่มต้นง่ายๆ แค่มีคนอยากเรียกแอคติ้งบ้าง “เขาอยากจะพูดเก่ง หรือซ่อนความหงุดหงิดไม่ลูกน้องรู้ ทำยังไงให้น่าเชื่อถือ เราก็ตั้งคำถามนะว่า มันได้หรอ?” ก็เลยดีไซน์คลาสให้คนใกล้ตัวก่อน “ทำให้เขาได้กลับไปรู้สึก กลับไปหาว่าความต้องการของแต่ละคนคืออะไรในสถานการณ์นี้ของชีวิต แล้วเราก็จะทำเพื่อจะไดรฟ์สิ่งนั้น แล้วก็จะเกิด motivation ขึ้นมา ทำให้เรารู้ว่าควรจะวางตัวยังไง ทำหน้ายังไง หรือรู้สึกยังไงกับเรื่องนั้น”
“มันเป็นคลาสที่เหมาะกับคนที่อยากจะพัฒนาตัวเอง หรือแค่กลับไปรู้จักตัวเองให้ดีขึ้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ มันอยู่ที่ใจ ไม่จำเป็นต้องมีใครบอกว่า คุณควรต้องเรียนนะ ไม่อย่างนั้นผลลัพธ์มันจะไม่เกิด เราไม่มีฮาวทู มีแต่กระบวนการที่คนต้องเอาไปทำงานต่อด้วยการเปิดใจ” แต่ปรางขอไฮไลต์ว่าในคลาสจะไม่มีการบังคับให้ร้องไห้ หรือกรีดร้องอย่างที่หลายคนเข้าใจหรอกนะ
“เราไม่ได้ทำแค่การสื่อสารอย่างเดียว คีย์ของคลาสนี้คือเราเทรนด์คนผ่านกระบวนการละครให้คนเราเข้าใจ self-esteem ของตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่สอนแอคติ้งในการแสดงอารมณ์ ทำหน้าทำตา หรือว่าต้องมานั่งร้องไห้ในคลาสนะ แค่ต้องรู้ว่าตัวตนของเราในตอนนั้นเป็นใคร กำลังสวมบทบาทอะไรอยู่ในตอนนี้ และต้องแยกออกจากกันให้ได้”
Workshop นี้ไม่ใช่การบำบัด สิ่งที่ได้แค่ทำความเข้าใจ
“รู้จักตัวเองให้ดี และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นให้ได้ แล้วมันก็จะเกิด emphathy(ความเห็นอกเห็นใจ)” คนที่เข้าใจตัวเองก็จะทำความเข้าใจคนอื่นไปโดยอัตโนมัติ ความเห็นใจจะทำให้เข้าใจ ยอมรับความแตกต่างในสังคมได้ง่ายขึ้น “Self-Factory เราตั้งชื่อล้อมาจากการที่คนเราถูกผลิตซ้ำ คนในแต่ละรูปแบบ ตามความเข้าใจในแต่ละยุคว่า แบบนี้คือดี คือประสบความสำเร็จ ทำให้เราคิดว่าถ้าคนเรารู้จักตัวเองและเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่เราโอเค ไม่ต้องเป็นเหมือนใคร สังคมจะเกิดความแตกต่าง และทุกคนก็โอเคกับความต่างนั้น”
ในคลาสทุกคนจะได้เซ็ตตัวเองอยู่ในภาวะที่สบายๆ พร้อมเปิดรับ คล้ายกับการเตรียมขึ้นแสดง แล้วกลับไปสะท้อนความเป็นตัวเองของแต่ละคน ผ่านเส้นทางชีวิตแบบไหน โตมายังไง “เพื่อที่จะหาว่าตัวตนของคุณจริงๆ แล้วเป็นยังไง มีอะไรที่เราไม่ชอบเกี่ยวกับตัวเอง หรือไม่เคยรู้ว่าเราเป็นแบบนี้มาก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนาต่อว่า เราอยากจะใช้ตัวตนไหนกับบทบาทแบบไหน ที่สำคัญเลยคือเสียงของคนอื่นมันมีอิทธิพลกับตัวจนเรามากน้อยแค่ไหน”
“คนส่วนใหญ่จะชอบคิดว่า ‘เราเป็นคนแบบนี้’ ผ่านสิ่งที่คนอื่นมองและบอกว่าเราเป็น โดยที่จริงๆ แล้วมันเป็นเสียงของคนอื่น มันทำให้คนเราต้องทุกข์ทนกับสิ่งที่คนอื่นบอกว่าเราเป็น แล้วนำไปสู่ภาวะเบิร์นเอาท์(หมดไฟ) ด้วยความพยายามจะเป็นอย่างที่คนอื่นบอกมากเกินไป”
คอมเมนต์หรือความเห็นจากคนอื่นที่ดูเหมือนเป็นเพียงคำพูดธรรมดานี่ล่ะ ที่มันฝังลึก ฝังเข้าไปในใจและเป็นสิ่งที่บอกเราให้เข้าใจว่า เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ความจริงอาจไม่ใช่หรือไม่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วเราเป็นใคร? ถ้านี่เป็นคำถามที่ทำให้เราอยากรู้จักตัวเองมากขึ้น ลองพูดคุยกับปรางหรือ Self-Facetory ดู อาจจะได้คำตอบบางอย่างที่เซอร์ไพรซ์ และได้แสดงออกตัวตนอย่างที่เราเป็นจริงๆ ในวันหนึ่งก็เป็นได้
Contact : Self-Factory
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ทาง CleoThailand หรือ FB: @CleoThailand