เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียสามี เธอคิดว่าเธอโอเค แต่เธอกดมันไว้ข้างใน จนเกิดอาการซึมเศร้าขึ้นเรื่อยๆ หลายปีทีเดียว เธอถึงออกมาจากโรคนี้ได้
คลีโอได้คุยกับรุ่นพี่ท่านหนึ่ง เธอเป็นรุ่นพี่สายนักเขียนในแวดวงเดียวกัน นานๆ จะเจอกันที และทุกครั้งมีความรู้สึกว่ามีความเศร้าอะไรบางอย่างในตัวเธอ แต่พี่คนนี้ก็ดูร่าเริง พูดคุยปกติ จนเพิ่งไม่นานนี้เอง ที่ได้คุยกันอีกครั้งแล้วพี่คนนี้บอกเราว่า “สองปีที่ผ่านมาพี่แทบแย่ พี่เป็นซึมเศร้า พี่ไม่สบาย ทรมานมากๆ”
เราขอเรียกนามสมมุติของพี่สาวคนนี้ว่า..พี่นกแล้วกันนะ
พี่นกก็เป็นผู้หญิงทำงานตามปกติ มีนิสัยร่าเริง ชอบอินสไปร์น้องๆ เธอมีสามีที่รักกันอยู่ในวงการเดียวกัน ทั้งคู่ใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข เรียบง่าย พอในสิ่งที่ตัวเองมี จนวันหนึ่งสามีของพี่นกหัวใจวายเสียชีวิตกะทันหัน พี่นกไม่เคยคาดคิดเลยว่าจะมีวันนี้เกิดขึ้นกับเธอ เธอก็พยายามทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิด “เราคงมีเวลากันแค่นี้ พี่เขาไปดีแล้ว” นั่นคือคำพูดที่เธอใช้ปลอบตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอหลังจากสามีเสียไปไม่นานก็คือ
“เราเริ่มพูดกับตัวเอง”
พี่นกกลายเป็นผู้หญิงที่คุยกับรูปถ่าย คุยกับเตียงนอน กลับมาบ้านที่เคยอยู่ด้วยกันกับสามีก็จะคุยกับเขา บอกเขาว่ากลับมาแล้วนะ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้เขาฟัง วันธรรมดายังพอไหวเพราะต้องไปทำงาน แต่พอเข้าเสาร์-อาทิตย์ พี่นกเริ่มรู้สึกเคว้ง เกิดคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมเราอยู่คนเดียวนะ?” เธอจึงลองไปวิ่ง พี่นกวิ่งวันละ 10 กิโลเมตร
อาการทางร่างกายเริ่มเกิดแล้ว “พี่ปวดหลังมากๆ เลย”
พี่นกปวดหลังมาก ตึงไปทั้งร่างกาย แล้วปวดแบบใช้ชีวิตลำบากขึ้น ทำอย่างไรก็ไม่หายจนเธอท้อ “ปวดเข้าไปในเส้นประสาท เข้าออกโรงพยาบาลเป็นเรื่องปกติ แล้วก็ท้อกับตัวเองมากๆ” ตอนนั้นพี่นกยังไม่รู้ว่าเธอเริ่มมีอาการของคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว เธอก็คิดว่าคงเศร้าๆ ปกติ แล้วปวดหลังคงเพราะนั่งทำงาน แต่ปรากฏว่าอาการทางใจก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“ตื่นมาเหมือนคนซังกะตาย ไม่อยากทำอะไรเลย”
หนึ่งในอาการของคนเริ่มๆ จะเป็นซึมเศร้าคือ จิตใจห่อเหี่ยว อยากนอน ไม่อยากทำอะไร พี่นกเป็นแบบนั้นเลย “พี่ไม่อยากอาบน้ำ ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากโทรศัพท์หาพ่อแม่ ไม่อยากกินข้าว อยากแค่อยู่บนเตียง” พี่นกกินข้าวไม่ได้ ไม่คุยกับใคร เธอลองไปวิ่งแต่อะดรีนาลีนไม่ช่วยอะไรเธอ น้ำหนักลดลงเกือบ 10 กิโล ตอนนั้นพี่นกเริ่มถามตัวเองแล้วว่า “ทำไมเราไม่มีความสุขเลย?” พี่นกไม่มีแรงทำอะไรทั้งสิ้น “เราไถเฟซแล้วเห็นชีวิตคนอื่นเขามีความสุข เราอยากเป็นแบบนั้นนะ แต่เราเป็นไม่ได้” พี่นกมีอาการแบบนั้นอยู่ 2 ปีทุกวัน แล้วช่วงนั้นพี่นกเห็นข่าวคนเป็นซึมเศร้าและฆ่าตัวตายกันเยอะ เธอเลยเริ่มฉุกใจว่าหรือเธอจะเป็น?
“เราชอบแต่งตัวมาก เป็นคนที่ตอนเช้าต้องเตรียมชุดแบบจัดสีมงคลทุกวัน แต่ตอนที่ไม่อยากทำอะไร เหลือแค่เดือนหนึ่งใส่แค่ 8 ชุด และไม่เปลี่ยนสีชุดเลย”
เธอเริ่มรู้ตัวแล้วว่าต้องไปหาหมอ โชคดีสามีเพื่อนเป็นหมอทางนี้ พี่นกเลยไปหา แล้วกับประโยคธรรมดาๆ จากหมอว่า “เป็นอะไร?” พี่นกร้องไห้โครมออกมา “เราร้องไห้ๆๆๆๆ ออกมา เล่าทุกสิ่งให้หมอฟัง น้ำตามาจากไหนไม่รู้ เราบอกหมอว่าตอนที่เราปวดหลังมากๆ น่ะ เราเดียวดาย เราโหยหาสามี เพราะเวลาเราไม่สบายเขาจะพาเราไปหาหมอ แต่พอเราป่วยหนัก เราไม่มีใครเลย”
ที่แปลกคือสามีพี่นกเสียไปแล้ว 16 ปี เธอถึงเพิ่งมาเป็นโรคซึมเศร้า
“เรากดตัวเองเอาไว้ว่าเราสตรอง”
คือสิ่งที่คุณหมอบอกกับพี่นก คุณหมอบอกเธอว่าพี่นอกมีภาวะซึมเศร้านะ แต่ยังไม่ถึงกับเป็นโรค หมอให้ยาคลายเครียด เพื่อให้นอนหลับ พี่นกบอกว่า “เราหลับนะ แต่ฝันร้ายตลอด” หลังจากนั้นพี่นกก็นอนไม่เต็มที่ ตื่นมาง่วง เป็นโฟเบีย แล้วอยู่ดีๆ เธอก็กลัวการขับรถ “จากที่เราเป็นคนเซล์ฟมาก กลับเป็นกลัวการขับรถ ไม่กล้าขับรถไปไหน แล้วก็ไม่แต่งหน้าเลย ไม่กล้าแต่งตัว ไม่ส่องกระจกด้วย” ข้างในกับข้างนอกพี่นกไม่เหมือนกันเลย เพราะภายนอกไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นอะไร พี่นกร่าเริงให้โลกรู้นั่นเอง
จนวันหนึ่งพี่นกบอกตัวเองว่า “ฉันแพ้ไม่ได้”
พี่นกอยากหายจากซึมเศร้านะ เธอไปหาหมอตลอดเดือนละ 4 ครั้ง จนสิ่งที่ทำให้พี่นกพุ่งทะยานจากการเป็นซึมเศร้าขึ้นมาได้ก็คือ เธอได้รับมอบหมายงานมากขึ้นนั่นเอง “พอมีงานเข้ามาเยอะๆ ต้องทำงานที่โตขึ้นเท่านั้นล่ะ สมองสั่งตัวเองเลยว่า “เราแพ้ไม่ได้นะ” ถึงสมองอีกซีกจะบอกว่า “เธอสู้ไม่ได้หรอก” แต่สมองที่ไม่ยอมแพ้มันมาแรงกว่า” บวกกับคำของพ่อที่บอกพี่นกว่า “สู้กับมันไป แต่ขออย่างเดียว อย่าทำร้ายตัวเอง
ภาระหน้าที่และการที่ต้องลุกขึ้นมาสู้ อาการจึงดีขึ้น
“พอต้องปรับตัวเองให้ลุยงานให้ได้ อยู่ดีๆ ก็ลุกดีดขึ้นมาเลย ความเศร้าหายเป็นปลิดทิ้ง แปลกมาก มันหลุดไปเลย” พี่นกไม่ขอยอมเสียงานที่สร้างมาแทบตาย เธอรู้สึกว่ามีแต่ตัวเธอเท่านั้นที่ต้องดึงตัวเองขึ้นมาให้ได้ เธอเริ่มคลายความกดดันในตัวเอง ออกไปเที่ยวมากขึ้น เจอคน ลัลล้ากับผู้คนมากขึ้น และยอมรับกับสิ่งที่ไม่มี
16 ปีแห่งความสูญเสียอาจจะทำให้เธอเศร้า และกดดันตัวเองนะ แต่ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้จักหัวใจตัวเองด้วยเช่นกัน ที่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอะไร เธอก็ผ่านมาได้ จะต้องเดินคนเดียว ต้องร้องไห้ ต้องโดดเดี่ยวแค่ไหน เธอก็ผ่านมาได้ในที่สุด
ขอขอบคุณเรื่องราวของพี่นก และให้กำลังใจต่อไปนะคะ
อ่านเรื่องราวอาการซึมเศร้าได้อีกที่ ขอแค่ลุกขึ้นมาจากเตียงเถอะนะ