มันต้องมีบ้างแหละ เวลาที่คุยๆ กันอยู่แล้วเรื่องก็เริ่มเดือดขึ้น บทสนทนาเริ่มปะทุขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ช็อตฟีล บางทีคุยกันต่อไม่ได้ก็มี อาจะมีใครสักคนเดินหนีออกไปดื้อๆ ฟีลแบบว่าพอแล้วฉันไม่อยากคุย เงียบแล้วเดินออกดีกว่า เหมือนบล็อกกำแพงให้อีกฝ่ายแบบดื้อๆ และสร้างเส้นแบ่งที่หนาขึ้นเรื่อยๆ การกระทำแบบนี้มันมีชื่อเรียกนะ เขาเรียกว่า Stonewalling เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเจอมากับตัว หรือบางทีก็เผลอเป็นฝ่ายทำแบบนี้ซะเองก็มี อาการที่นิ่งเงียบ ไม่พูดไม่จา ไม่ปล่อยให้บทสนทนานั้นเคลียร์ แต่เลือกที่จะเงียบและไปทำอย่างอื่นแทนเพื่อตัดจบ
Stonewalling คือวิธีการที่เราใช้เมื่อเราเริ่มเสียการควบคุมไปทั้งในแง่ของการต่อบทสนทนาหรือการควบคุมอารมณ์
จริงๆ สโตนวอลลิ่งเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์หลายรูปแบบนะ ทั้งแบบคู่รัก ครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานก็มี เมื่อบทสนทนาของเราเริ่มมีความเห็นไม่ตรงกัน มีปากเสียง มีคอนฟลิกนิดหน่อย วิธีการนี้ก็จะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นการเปลี่ยนเวย์ในการคุยไปเลย อาจจะคิดว่าเพื่อลดความขัดแย้งลง เงียบดีกว่า แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์นั้นดีขึ้นเลย เผลอๆ อาจจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงด้วยซ้ำ
John Gottman แพทย์ด้านจิตวิทยาคลินิก เขาคือผู้บุกเบิกการวิจัยเกี่ยวกับStonewalling ที่สถาบัน Gottman ซึ่งเน้นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาเรียกว่า “Four Horsemen of the Apocalypse” หรือตัวบ่งชี้ว่า “ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ มันก็จะล้มเหลว” ถ้าให้อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด มันก็คือการสร้างกำแพงทางอารมณ์ขึ้นมาระหว่างตัวเราและอีกฝ่ายในความสัมพันธ์ ซึ่งกำแพงนี้ก็จะแสดงให้เราเห็นผ่านพฤติกรรมต่างๆ เช่นๆ การเพิกเฉย เมินคนอื่น ไม่สนใจ เย็นชา นิ่งเงียบ ไม่ตอบโต้อีกฝ่าย หรือออกจากการสนทนานั้นไปเลย
รูปแบบของการสร้างกำแพงทางอารมณ์
อย่างที่บอกไปว่า สโตนวอลลิ่งนั้นมีสองรูปแบบและสิ่งสำคัญคือต้องแยกแยะระหว่างรูปแบบเหล่านี้ให้ได้ เพราะผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ก็จะแตกต่างกันออกไป
การสร้างกำแพงโดยไม่ได้ตั้งใจ
หลายคนสร้างกำแพงทางอารมณ์นี้ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกป้องกันตัวเอง ซึ่งพวกเขาไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งของการสนทนาที่เริ่มจะปรี๊ดแตก พวกเขาเหล่านี้ก็จะเริ่มทำการก่อกำแพงขึ้นมาเพื่อเซฟความรู้สึกตัวเอง
การสร้างกำแพงขึ้นมาโดยตั้งใจ
แบบนี้มีการคิดมาก่อน เพราะพวกเขาตั้งใจก่อกำแพงขึ้นมาเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่มีตัวตนหรือไม่สำคัญ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง และกระทบไปถึงความสัมพันธ์ได้ วิธีที่เจอบ่อยๆ ก็อย่างเช่น
- เพิกเฉยไปแบบดื้อๆ ทำเหมือนว่าเราไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น
- เริ่มทำกิจกรรมอื่นระหว่างการสนทนา
- ไม่ตอบสนองแม้จะถูกถามคำถามโดยตรงก็ตาม
- ภาษากายกลายเป็นการป้องกันตัว (เช่น กอดอก หันหน้าหนี)
- เริ่มหยิบโทรศัพท์ออกมาแล้วเริ่มคุยหรือส่งข้อความกับคนอื่น
- ออกจากห้องกะทันหัน
- เปลี่ยนเรื่องกะทันหัน
ทางที่ดีที่สุด ควรคุยและปรับความเข้าใจให้ตรงกันด้วยเหตุผล มากกว่านิ่งเงียบเพื่อหนีปัญหานะ เพราะในอนาคตมันอาจกระทบความสัมพันธ์จนต่อไม่ติดก็ได้นะ
อ่านเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ CLEO Thailand และ FB > CLEO