โรคแพนิค หรือโรควิตกกังวล (Panic Attack ) เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายก็ตาม อยู่ ๆอาการก็เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการที่เป็นก็อาจจะหัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัดเหมือนๆ จะขาดอากาศ เวียนหัว เหมือนจะเป็นลม ซึ่งอาการแต่ละครั้งจะเป็นอยู่เพียงไม่นานก็จะหายไป โรคนี้ถือเป็นโรคที่ทันสมัยในปัจจุบัน เนื่องจากมีคนที่เป็นโรคนี้จำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นโรคที่เราคุ้นหูอยู่บ่อยครั้งจากคนใกล้ตัวเลยล่ะ
“ย้อนกลับไปตอนที่ตัวเองยังไม่รู้จักโรคนี้ ตอนนี้เราคิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจรึเปล่า? เพราะอาการที่เราเป็นนั้นเข้าข่ายโรคเกี่ยวกับหัวใจมากค่ะ เราเลยไปตรวจดูที่โรงพยาบาลจนได้รู้ว่าร่างกายและหัวใจเราปกติทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราเป็นคือสิ่งที่เรียกว่า แพนิค ค่ะ ” พิม สาววัยยี่สิบต้นๆ ที่เป็น Panic Attack มาหลายปี เล่าให้เราฟัง
“โรคแพนิคเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 2-5% ของประชากรทั่วไป และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า มักพบในคนอายุน้อย ซึ่งเป็นวัยรุ่น มีอายุประมาณ 20 – 30 ปี แต่ก็มีคนที่เป็น Panic บางส่วนที่มีอายุ 40 – 50 ปี”
จากประสบการณ์ของพิม เธออยู่ในวัย 20 กว่าปี และแทบไม่มีใครดูออกเลยว่าเธอเป็นโรคนี้ พอมบอกว่า “ปกติเราเป็นคนสดใส บอกใครเขาก็แทบจะไม่เชื่อว่าเป็นโรคนี้ ตอนแรกเรานึกว่าเป็นคนเดียวแต่สักพักเพื่อนในวัยเดียวกันอีกหลายคนก็บอกว่ามีอาการเหมือนกันกับเรา ”
อาการทั่วไปของผู้ที่เป็นโรค Panic
- รู้สึกกลัวจนเหมือนควบคุมตนเองไม่ได้
- รู้สึกชาตามร่างกาย วิงเวียนเหมือนจะเป็นลม
- หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
- แน่นหน้าอก
- มีเหงื่อออกตามร่างกาย โดยเฉพาะมือ
- มีความคิดว่ากลัวตนเองจะตายหรือเป็นบ้า
ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้มักเป็นขึ้นมาและหายไปเองในเวลา 10 – 20 นาที หรืออย่างมากสุดเลยจะไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่แพนิคเป็นโรคที่หายง่าย และกำเริบง่าย เพราะผู้ที่เป็นจะมีความกังวลว่าตนเองจะกลับมาเป็นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามและควรหาทางรับมือกัน
“เราไปพบจิตแพทย์และทานยาตามที่หมอสั่ง สิ่งนี้ช่วยเราได้มากแต่ก็ไม่ทั้งหมด สิ่งสำคัญเลยคือการรักษาสุขภาพจิตใจและร่างกายของเราให้แข็งแรง ฝึกคิดบวก ฝึกนั่งสมาธิ และออกกำลังกายบ่อยขึ้น และที่สำคัญต้องขอบคุณครอบครัวและแฟนที่เข้าใจและคอยอยู่ข้างๆเราเสมอ” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
สาเหตุของ Panic
ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากปัจจัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- ทางกาย อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่าอะมิกดาลาทำงานผิดปกติ การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือใครที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จนเกิดความเครียดสะสมก็เป็นบ่อเกิดของโรค Panic เช่นกัน
- ทางใจ บางคนที่มีอดีตที่ฝังใจอาจจะเจอเรื่องร้ายมาในอดีต หรือมีเรื่องกระทบจิตใจอย่างรุนแรงมาก่อน
วิธีดูแลตัวเองหากเกิดอาการ Panic / ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
- งดเครื่องดื่มที่สามารถกระตุ้นทำให้ใจสั่น และทำให้โรคกำเริบไม่ว่าจะเป็น แอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ
- นั่งสมาธิเป็นประจำ กำหนดลมหายใจเข้า – ออก ทำใจให้สงบนิ่ง หากอาการกำเริบก็ให้หายใจเข้าออกช้าๆ
- ให้กำลังใจตัวเอง และรักตัวเองมากๆ รับมือกับความคิดในแง่ลบ ฝึกคิดบวกไว้
- นอนหลับอย่างเพียงพอ
- เข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ ซึ่งไปอย่างต่อเนื่องตามที่หมอนัด
โรคแพนิคเป็นอันตรายต่อชีวิตไหม ?
ต้องเกริ่นก่อนว่าโรคนี้สร้างลำบากไม่น้อยเลยในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นตอนเรียน ตอนทำงาน หรือแม้กระทั่งตอนทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เพราะต้องต่อสู้กับการกังวลอยู่เป็นประจำ แต่ความเป็นจริงโรคนี้ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต เพียงให้หมั่นดูแลสภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง เท่านี้อาการก็จะค่อยๆดีขึ้น จนวันหนึ่งก็จะสามารถหายขาดจาก Panic ได้
ทั้งนี้ Cleo ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังประสบกับโรค Panic และเชื่อมั่นว่าวันนึงคุณจะสามารถก้าวผ่านมาได้ มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนะคะ
สามารถอ่านบทความอื่นๆของ cleo ได้ที่: