แต่ละคนคงมีนิยามความรักไม่เหมือนกันนะ
เหมือนกับผู้ชายคนนี้ Alain de Botton เขาเป็นนักเขียนชื่อดัง และเน้นศึกษาเรื่องความรัก เรื่องความโรแมนซ์ อลันเขียนเล่าทฤษฎีใหม่ๆ ของเขาทีไร ก็สร้างความสั่นสะเทือนอยู่ เหมือนกับเรื่อง ความหมายของ “ความรัก” และทอล์คดังของเขาในยูทูบหัวข้อที่ว่า “ทำไมเราถึงแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่?” อลันใช้เวลาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแค่ 20 นาทีนะ แต่ก็เปลี่ยนความเข้าใจเรื่องความรักของเรา ที่เรียกว่าแทบจะทั้งชีวิตมาทั้งหมดไปเลย
เริ่มจากที่เรามักชอบมีหนึ่งในความตั้งใจของชีวิตกันมาว่า “ฉันจะต้องได้แต่งงานกับคนที่ทำให้ฉันมีความสุข” แต่ทำไมสุดท้ายเราก็จะเป็นทุกข์กับตัวเองแล้วสรุปชีวิตรักของเราใหม่ว่า “ฉันกำลังมีความสัมพันธ์ที่ต้องอยู่กับคนที่ไม่ใช่ ฉันแต่งงานกับคนผิดๆ อยู่นี่นา” อลันบอกว่าเรื่องนี้ไม่แปลกเลยนะ เพราะ
“มันแทบจะเป็นไปได้ยากมากๆ ที่เราจะได้แต่งงานกับคนที่ใช่”
คำตอบของอลันก็คือ ไม่ต้องหาคนที่ใช่ขนาดนั้น และไม่ต้องรู้สึกแย่กับคนที่ไม่ใช่ เพราะ “เราน่ะสามารถแมเนจที่จะอยู่กับคนที่ “ดีพอ” สำหรับเราได้” และนั่นคือชีวิตคู่จะประสบความสำเร็จแล้วล่ะ
คำว่า “ดีพอ” หรือ “good enough” ของอลันคือคำสรุปอันนุ่มนวล ถ่อมตน และเปิดกว้าง เป็นคำที่ทำให้เราต้องหันกลับมามองนิยามความรักของตัวเองเลยว่า เราเคยใช้คำนี้มั้ย? เราเคยยอมรับมั้ยว่าจริงๆ ตัวเราเองน่ะ ก็ไม่ได้เลิศเลอขนาดนั้น แล้วทำไมเราถึงต้องการคนที่เริ่ดๆ คนที่ทำให้เรามีความสุข ดูแลเรา ดีพร้อมเพื่อมาอยู่กับเราล่ะ? จริงๆ เราขอแค่คนที่ “ดีพอ” ก็ได้นี่นา
อลันเล่าเรื่องนี้ต่อ และให้เหตุผลที่ทำให้เรายากเหลือเกินที่จะได้อยู่กับคนที่ใช่ ก็คือว่า “เพราะว่าพวกเราน่ะแปลกกันมาตั้งแต่เด็ก เราแปลกทุกคนแหละ และเราก็ไม่ค่อยรู้ด้วยว่าเราเป็น” คือ “เราไม่รู้หรอกว่าเราเอง ก็เป็นคนที่ยากจะอยู่ด้วยเหมือนกัน” และสิ่งนี้ก็กลายเป็นโลกเงียบในตัวเรา รอบๆ ตัวเราว่า “ทำไมเราถึงเป็นคนที่ยากที่จะอยู่ด้วย” ไม่ค่อยมีใครพูดกันตรงๆ เรื่องนี้นะ เราจะข้ามช็อตไปว่า “ทำไมเราไม่เจอคนที่ใช่ ทำไมคนที่เราอยู่ด้วยยากจัง ทำไมเขาไม่เป็นอย่างที่เราคิด?”
อลันชวนให้สังเกตว่า เพื่อนเราเองที่น่าจะรู้ว่าเรามีข้อเสียอะไร เขาก็ไม่กล้าบอกเรา พ่อแม่เราก็ไม่ค่อยบอกเราว่า เรามีอะไรผิด พ่อแม่บางทีก็อยากเอาใจเราเกินไป เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานเรารู้หมดแหละว่าเรามีอะไรแปลกๆ แต่ก็ไม่มีใครกล้าบอกเรา พวกเราเลยอยู่ในโลกที่ “ไม่ค่อยมีเซนส์บอกตัวเราว่า มีอะไรแปลกๆ ผิดๆ ในตัวเราบ้างมั้ย?”
นอกจากความยากของเราที่เราไม่รู้ตัวแล้ว อีกเรื่องก็คือเรามักอยู่กับการ “ติด” ในความหมายของอลันเขาให้คำนิยามกับคำว่า “ติด” หรือ addiction ว่า “คือสถานการณ์ที่เราไม่สามารถอยู่กับตัวเราเองได้” เหมือนกับว่าเราจะรู้สึกอึดอัดที่จะต้องอยู่กับตัวเอง เราเลยต้องหาอะไรทำๆๆๆ เพื่อให้เราไม่ต้องอยู่กับตัวเอง แล้วเรายังถูกรายล้อมด้วยสิ่งต่างๆ ที่จะบอกเราว่า “คุณจะมีชีวิตที่ดีได้นะ ถ้าไม่อยู่กับตัวเอง” สิ่งล่อต่างๆ ให้เราดู เล่น เข้าไปลอง ก็เพื่อจะไม่ให้เราอยู่กับตัวเราเอง
และสิ่งนี้ล่ะที่อลันยืนยันว่า “มันคือหายนะที่จะทำให้เราอยู่กับคนอื่นๆ ไม่ได้” เพราะพอเราไม่รู้ชัดเกี่ยวกับตัวเราเองจริงๆ น่ะ เราก็ไม่สามารถหาจุดคอนเน็คท์ตัวเรากับคนอื่นได้ เพิ่มความยากของตัวเราเข้าไปอีก เพราะพอเราไม่ว่างพอที่จะเข้าใจตัวเราเอง เราก็จะกระโดดไปมองคนอื่นเลย และเอาอีโก้เราไปตัดสินเขาด้วยเหมือนกัน
เมื่อเราคบกับใคร เราเลยจะรู้สึกยึดติดกับคนๆ นั้นแบบกระวนกระวายใจ.. เมื่อเรายึดติดเข้าไปกับเขา แทนที่เราจะบอกความต้องการของเราตรงๆ เช่น เราอยากให้เธอมาตรงเวลานะ เรากลับบอกว่า “เธอมาสายสิบนาทีแล้วนะ” เราเริ่มยึดติดกับสิ่งที่เราต้องการ และเรียกร้องมากขึ้น หรือสรุปการกระทำของอีกฝ่ายไปเลยว่า “เธอไม่แคร์ฉันเลย”
ทำให้สิ่งนี้ทับถมในใจเรา แล้วเรารู้สึกไม่พอใจ ไม่ไว้ใจเขาขึ้น เกิดความอคติ ความหลบเลี่ยงในใจขึ้นมา และอาจตัดสินในใจไปแล้วว่าเขาคงเป็นแบบนี้ และก็จะเป็นแพทเทิร์นไปเรื่อยๆ ด้วยสิ ปัญหาคือเราไม่กล้าบอกสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ตั้งแต่แรก เช่น ถ้าเราอยากให้เขาไปเป็นเพื่อน เพราะลึกๆ เรารู้สึกว่าเรายังเป็นเด็ก เรายังกลัวอยู่ เราก็ไม่บอกความรู้สึกไปตรงๆ แต่กลับใช้กิริยาที่เนกาทีฟ หรือเหวี่ยงอารมณ์ใส่เขาแทน
หัวใจสำคัญอยู่ตรงนี้เลยว่า การที่เราเลือกที่จะเป็นแบบนี้แทนที่จะบอกความรู้สึกตรงๆ แปลว่าเราปฏิเสธที่จะพบกับ “ความท้าทายในความรัก” ซึ่งอลันบอกว่าจริงๆ แล้วเราเองน่ะ ไม่รู้ว่าจะรักยังไงด้วยซ้ำนะ สำหรับอลันความรักไม่ใช่สัญชาติญาณ แต่มันคือทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ คนเราชอบที่จะทำตามความรู้สึก แต่นั่นคือสิ่งที่อาจทำให้เราพลาดได้มากกว่า
แล้วความรักคืออะไรล่ะ? อลันบอกว่าเราน่ะรู้กันดีว่า “ถ้าเราถูกรัก” เราจะมีคนมาดูแล เอาใจใส่ ยอมเรา ทำโน่นนี่ให้เรา อันนี้เรารู้ดีกันอยู่ เราโดนรักกันมาตั้งแต่เด็ก และก็คิดว่านั่นคือสิ่งที่จะเกิดกับเราตอนเราโตขึ้นเหมือนกัน แต่นั่นคือความผิดพลาดอันโหดร้ายเลยนะ ถ้าเราไม่มองอีกด้านของความรักด้วย
“ความรักคือความสามารถ ที่จะตีความการกระทำของคนๆ หนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่กระทำผิวๆ นะ แต่คือต้องเป็นความพยายามที่จะค้นหาด้วยว่า อะไรทำให้เขาเป็นแบบนั้น หรือทำแบบนั้น”
ในอีกความหมายก็คือว่า การรักใครสักคนคือการเสียสละมากพอ ที่จะนิ่งพอ และพยายามตีความการเป็นตัวเขาแบบนั้น และเราต้องทำความเข้าใจมากๆ ว่า “ใครก็ตามที่เราจะรัก เขามีทั้งข้อดี และไม่ดีอยู่ในตัวอย่างแน่นอน” เราเลยอาจมีประโยคที่ว่า “ฉันรักเขานะ และก็ไม่ชอบเขาด้วยเหมือนกัน”
ซึ่งนั่นคือโอเค โยงเข้ามาเรื่องของความสัมพันธ์ คือแทนที่เราจะฟันธงไปเลย ว่าคนๆ นี้ดีงามโน่นนี่ แล้วพอเจออะไรไม่ดีในตัวเขา เราก็หลบเลี่ยง ไม่พอใจ แต่ความจริงแล้วคือ “ในความรักคุณไม่อาจหาอะไรที่ดีไปหมดได้ คุณต้องยอมรับว่าเขามีเรื่องที่ดี และเขาก็มีเรื่องที่ไม่ดีอยู่ด้วย”
ความรักเลยไม่ใช่ความรู้สึกชื่นชม บูชาอย่างเดียวนะ มันคือการที่เราสามารถอยู่กับความอ่อนแอของคนอีกคนได้ อยู่กับความที่ก็มีบางอย่างที่เราไม่ชอบได้
เหตุผลที่ทำไมเราเลือกที่จะอยู่กับคนผิดๆ ก็คือ เรามักถูกบอกว่าวิธีที่จะหาคนที่ใช่คือ “ให้เชื่อสัญชาติญาณ” เราเลยคิดว่าเราต้องใช้ความรู้สึก เรากลัวที่จะเป็นคนที่คิดมากเกินไปในความรัก อลันบอกว่าเรื่องความรัก “คุณไม่ได้คิดมากเกินไปหรอก มีแต่คุณคิดผิดต่างหาก”
และอีกเหตุผลที่เรามันอยู่กับคนผิดๆ ก็คือ “เมื่อเรารักใคร เราก็คิดว่าเราไม่จำเป็นต้องบอกคนๆ นั้นว่าเราเป็นยังไง เขาน่าจะต้องรู้ได้เองสิ คนรักที่ดีต้องเดาใจเราได้สิ”เลยเกิดเป็นปฏิกิริยาว่าถ้าเราไม่พอใจขึ้นมา แล้วคนรักมาถาม เราก็จะตอบไปว่า “ฉันไม่เป็นไร ฉันโอเค” แล้วก็เดินเข้าห้องปิดประตูไป เราไม่บอกว่าเราเป็นอะไร อีกคนก็พยายามถาม แต่เราก็ไม่บอกเพราะเราคิดว่า “เขาต้องรู้สิว่าเราคิดยังไง ถ้าเราเป็นโซลเมทกันเขาต้องรู้ให้ได้สิ”
อลันมาถึงไฮไลท์เรื่องความรักที่เราอาจจะลืมกันไป เขาบอกว่า “ในเรื่องความรักของคนสองคน มันคือการเป็นคุณครูที่ดีให้แก่กัน” เราทุกคนต้องเป็นคุณครูที่มีทักษะในการจะเข้าใจคนอีกคน และมีทักษะของคุณครูที่ดี ที่ถ้าดุเกินไป คาดคั้นเกินไป คนก็จะไม่ชอบ แต่ต้องรีแล็กซ์ เปิดกว้าง คนสองคนต้องสอนกันและกัน และเรียนรู้กันและกัน
แล้วเราจะรู้ว่า “ไม่มีใครเพอร์เฟ็คท์หรอก เราเรียนรู้ให้เราเป็นคนที่ ‘ดีพอของกันและกัน’ ก็พอ” เราเองไม่สามารถเปลี่ยนตัวเราที่เป็นคนแบบนี้ได้ แค่สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เปลี่ยนวิธีที่เราตอบโต้ออกไปได้ และเรียนรู้ที่จะประนีประนอมได้ แค่เราคิดว่าเราก็ไม่ได้เจ๋งอะไรขนาดนั้น ไม่แปลกหรอกถ้าคนที่เราอยู่ด้วยเขาก็จะเป็นแบบนี้เหมือนกัน เราก็จะได้ความรู้สึกว่า “ไม่เป็นไรหรอก ช่างมันเถอะ” เข้ามาในใจทันที
ลองอยู่กับตัวเองว่างๆ มากขึ้น
บอกความรู้สึกจริงแท้ในใจมากขึ้น
เดทกับคนที่เราจะไม่ตัดสินเขาเร็วเกินไป
มองเห็นสิ่งดี และรับรู้สิ่งไม่ดีในตัวเขา และรู้ว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น
เราเราคนๆ หนึ่งได้ ถึงแม้เขาจะมีอะไรที่ไม่ดีอยู่
เพราะเราเองก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
เราจึงรักกัน และพยายามตีความการกระทำของกันและกัน
สอนกันและกัน เหมือนคุณครูที่ดี
จนเราสองคน “ดีพอ” สำหรับกันและกัน
และนั่นคือ….ความรักที่ดีพอแล้วล่ะ
#CleoLove #AlainDeBotton